ฮือฮา! ทั้งแผ่นดิน เมื่อมีคำสั่งเจ้าคณะปกครองฉบับพิเศษ ส่งตรงถึงเจ้าคณะภาค เจ้าคณะจังหวัด และเจ้าอาวาส ตามลำดับชั้น
แฟนเพจ "ศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย“ ถึงกับพาดหัวข่าว ”เปิดคำสั่งเจ้าคณะปกครอง !! ยกเครื่องคณะสงฆ์ไทยทั่วสังฆมณฑล พร้อมกันโดยมิได้นัดหมาย"
เนื่องจากขณะนี้ได้มีคำสั่งจากเจ้าคณะปกครอง อันประกอบด้วย
สมเด็จพระวันรัต (จุณฑ์ พฺรหฺมคุตฺโต ป.ธ.9) วัดบวรนิเวศวิหาร เขตพระนคร กรุงเทพฯ ปฏิบัติหน้าที่แทนเจ้าคณะใหญ่ คณะธรรมยุต
สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ (สมศักดิ์ อุปสโม ป.ธ.9) วัดพิชยญาติการาม เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร เจ้าคณะใหญ่หนกลาง (มหานิกาย)
พระวิสุทธิวงศาจารย์(วิเชียร อโนมคุโณ ป.ธ.9) วัดปากน้ำ เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร เจ้าคณะใหญ่หนเหนือ
สมเด็จพระพุฒาจารย์(สนิท ชวนปญฺญ ป.ธ.9) วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร เจ้าคณะใหญ่หนตะวันออก
พระพรหมจริยาจารย์ (สงัด ปญฺญาวุโธ ป.ธ.7) วัดกะพังสุรินทร์ ต.ทับเที่ยง อ.เมือง จ.ตรัง เจ้าคณะใหญ่หนใต้
คำสั่งเจ้าคณะปกครองดังกล่าว มี 6 ข้อ โดยมีเนื้อหาเหมือนกัน เป็นการควบคุมดูแลพระภิกษุสามเณรในปกครอง ให้อยู่ในพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด อีกทั้งให้กำกับดูแลการแสดงความเห็นต่างๆ ที่อาจจะเป็นไปเพื่อการยุยงปลุกปั่นอีกด้วย ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวทั่วประเทศ
ในคำสั่งฉบับพิเศษ สื่อมวลชนส่วนใหญ่เน้นการนำเสนอข้อ 5 ที่ห้ามติดแผ่นป้ายโฆษณาพระพุทธรูป พระเครื่อง วัตถุมงคล และเทวรูป ในสถานที่ต่างๆ และขอให้เจ้าคณะเขตสอดส่องดูแลการโฆษณา การจัดสร้างพระบูชาวัตถุมงคล และเทวรูปทางสื่อต่างๆ อย่างใกล้ชิด อีกทั้งพระอุโบสถ เป็นสถานที่ที่พระภิกษุสงฆ์ใช้ทำสังฆกรรมทุกวัด จึงไม่ควรจำหน่ายพระบูชา วัตถุมงคล และเทวรูปต่างๆ ทั้งภายใน และบริเวณพระอุโบสถ
นอกจากนั้น มีเรื่องขอให้พระสังฆาธิการตรวจสอบพฤติกรรม และควบคุมจริยาของพระภิกษุสามเณร ไม่ให้ประพฤติเสียหาย อาทิ การแสดงกิริยาวาจา ที่ไม่สมสมณสารูป ไม่สอดคล้องกับเพศ หรือการใช้สื่อสังคมออนไลน์ในทางไม่เหมาะสม เป็นต้น เพื่อให้เป็นไปตามแผนปฏิรูปพระพุทธศาสนา
มีรายงานข่าวว่า จริงๆแล้ว คำสั่งดังกล่าว ไม่ใช่เป็นคำสั่งใหม่ แต่เป็นคำสั่งที่เคยมีบัญญัติและเป็นสิ่งที่คณะสงฆ์สมควรปฏิบัติอยู่แล้ว แต่ด้วยเวลาผ่านไป ส่วนใหญ่การบังคับใช้กฎระเบียบ มักจะถูกผู้ควบคุมกฎและผู้ปฏิบัติ ละเลย ย่อหย่อน ทำให้มีการประพฤติผิดอาบัติ จนเกิดความเสื่อมเสียแก่คณะสงฆ์มาเป็นระยะๆ เพื่อให้เกิดความเรียบร้อย จึงได้หารือคณะกรรมการ มส. และคณะสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ สมควรที่จะออกคำสั่งดังกล่าวออกมาแจ้งให้มีการบังคับใช้ เพื่อกำชับซ้ำให้พระสังฆาธิการคุมเข้มพฤติกรรมพระภิกษุสามเณร ไม่ให้มีพฤติกรรมเสื่อมเสีย
ที่สำคัญ แก่นแกนของคำสั่งเจ้าคณะปกครองล่าสุด น่าจะอยู่ในข้อ 2 ที่ว่าด้วยเรื่องการเมืองและความมั่นคงแห่งรัฐ
“ข้อ 2 พระภิกษุสามเณร ผู้วิพากษ์วิจารณ์หรือแสดงออกในแนวทางกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และความสุขของประชาชน หรือส่อไปในทางยั่วยุ ปลุกปั่น ทำลาย ก้าวร้าวรุนแรงและไม่สร้างสรรค์ ให้พระสังฆาธิการกวดขันควบคุมพระภิกษุ สามเณร ผู้มีพฤติกรรมดังกล่าว มิให้กระทำการเช่นว่านั้น และหากเข้าข่ายละเมิดกฎหมายบ้านบ้านเมืองให้ประสานกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการตามกฎหมายโดยเคร่งครัด”
อนึ่ง โครงสร้างการปกครองบังคับบัญชาเจ้าคณะภาค แบ่งออกเป็น เจ้าคณะใหญ่ฝ่ายมหานิกาย และเจ้าคณะใหญ่ฝ่ายธรรมยุตมีอำนาจบังคับบัญชาสูงสุดในคณะสงฆ์แต่ละนิกาย ในสายการบังคับบัญชา เจ้าคณะใหญ่ยังต้องอยู่ภายใต้การปกครองของมหาเถรสมาคม มีเขตการปกครองดังนี้
เจ้าคณะใหญ่หนกลาง ปฏิบัติหน้าที่ในเขตการปกครองคณะสงฆ์ มหานิกาย ภาค 1,2,3,13,14 และ 15
เจ้าคณะใหญ่หนเหนือ ปฏิบัติหน้าที่ในเขตการปกครองคณะสงฆ์ มหานิกาย ภาค 4,5,6 และ 7
เจ้าคณะใหญ่หนใต้ ปฏิบัติหน้าที่ในเขตการปกครอง คณะสงฆ์ มหานิกาย ภาค 16, 17 และ 18
เจ้าคณะใหญ่หนตะวันออก ปฏิบัติหน้าที่ในเขตการปกครอง คณะสงฆ์มหานิกาย ภาค 8, 9, 10, 11 และ 12
เจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต ปฏิบัติหน้าที่ในเขตการปกครองคณะสงฆ์ธรรมยุตทุกภาค
เขตการปกครองคณะสงฆ์ทั้ง 18 ภาค ประกอบด้วยจังหวัด ต่างๆ ดังนี้
ภาค 1 มี 4 จังหวัด คือ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ
ภาค 2 มี 3 จังหวัด คือ พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง และ สระบุรี
ภาค 3 มี 4 จังหวัด คือ ลพบุรี สิงห์บุรี ชัยนาท และอุทัยธานี
ภาค 4 มี 4 จังหวัด คือ นครสวรรค์ กำแพงเพชร พิจิตร และเพชรบูรณ์
ภาค 5 มี 4 จังหวัด คือ พิษณุโลก สุโขทัย ตาก และอุตรดิตถ์
ภาค 6 มี 6 จังหวัด คือ ลำปาง พะเยา เชียงราย แพร่ และน่าน
ภาค 7 มี 3 จังหวัด คือ เชียงใหม่ ลำพูน และ แม่ฮ่องสอน
ภาค 8 มี 4 จังหวัด คือ อุดรธานี หนองคาย เลย และสกลนคร
ภาค 9 มี 4 จังหวัด คือ ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ และร้อยเอ็ด
ภาค 10 มี 5 จังหวัด คือ อุบลราชธานี ยโสธร มุกดาหาร ศรีสะเกษ และนครพนม
ภาค 11 มี 4 จังหวัด คือ นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และ สุรินทร์
ภาค 12 มี 3 จังหวัด คือ ปราจีนบุรี นครนายก ฉะเชิงเทรา
ภาค 13 มี 4 จังหวัด คือ ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด
ภาค 14 มี 4 จังหวัด คือ นครปฐม สุพรรณบุรี กาญจนบุรี และสมุทรสาคร
ภาค 15 มี 4 จังหวัด คือ ราชบุรี เพชรบุรี สมุทรสงคราม และประจวบคีรีขันธ์
ภาค 16 มี 3 จังหวัด คือ นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และชุมพร
ภาค 17 มี 5 จังหวัด คือ ภูเก็ต ตรัง พังงา กระบี่ และระนอง
ภาค 18 มี 6 จังหวัด คือ สงขลา พัทลุง สตูล ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส