|บทบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ
|ฉบับ 3388 หน้า 16 ระหว่างวันที่ 2-4 ส.ค.2561
ที่ประชุมครม.สัปดาห์ก่อนได้อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ทรัพย์สินอื่นเป็นหลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ. ... โดยกระทรวงพาณิชย์เป็นผู้เสนอ ซึ่งเป็นผลต่อเนื่อง มาจากคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสังคม เสนอแผนขับเคลื่อนระบบการเสริมสร้างชุมชนเข้มแข็ง ในส่วนของระบบการจัดการทรัพยากรและชุมชน ที่จะผลักดันกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมให้ประชาชนปลูกต้นไม้ยืนต้นมูลค่าสูงในที่ดินกรรมสิทธิ์
กระทรวงพาณิชย์ ในฐานะผู้กำกับดูแลพระราชบัญญัติหลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ.2558 ได้เสนอออกกฎกระทรวงตามพ.ร.บ.นี้ให้นำไม้ยืนต้นที่มีมูลค่าสูงมาเป็นหลักประกันทางธุรกิจ โดยออกกฎกระทรวงตามมาตรา 8 (6) พ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจที่บัญญัติให้หลักประกัน ได้แก่ ทรัพย์สินอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง จึงได้กำหนดไม้ยืนต้นที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ 58 ชนิดตามบัญชีท้ายกฎหมายว่าด้วยสวนป่าให้เป็นหลักประกันทางธุรกิจได้
ต้นสะเดา ต้นสัตบรรณ ต้นตีนเป็ดทะเล ต้นปีบต้นตะแบกนา ต้นแคนา ต้นกัลปพฤกษ์ ต้นมะขามป้อม ต้นจามจุรี ต้นหลุมพอ ต้นกฤษณา ไม้หอม ต้นเทพทาโร ไผ่ทุกชนิด ไม้สกุลมะม่วง ไม้สกุลทุเรียน ต้นมะขาม
กฎหมายหลักประกันธุรกิจออกมาเมื่อปี 2558มีผลใช้บังคับปี 2559 โดยหลักประกันทางธุรกิจกำหนดไว้เดิม เช่น กิจการ, สิทธิเรียกร้อง เช่น สินค้าคงคลัง-เครื่องจักร, บัญชีเงินฝาก, อสังหาริมทรัพย์, ทรัพย์สินทางปัญญาและทรัพย์สินอื่นๆ ที่ผ่านมาที่นิยมใช้เป็นหลักประกัน แค่เพียงบัญชีเงินฝาก ทรัพย์สินทางปัญญา ส่วนอื่นๆแบงก์ยังไม่ค่อยรับเป็นหลักประกัน ซึ่งตามเจตนารมณ์ของกฎหมายต้องการให้เอสเอ็มอีที่เข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน สามารถมีหลักทรัพย์มาใช้เป็นหลักประกันได้เพิ่มขึ้น
การนำไม้ยืนต้นมาเป็นหลักประกันได้ จะไปสอดรับกับโครงการธนาคารต้นไม้ ที่กำลังอยู่ระหว่างการจัดทำพ.ร.บ.ธนาคารต้นไม้ รองรับการส่งเสริมการปลูกไม้ยืนต้นมูลค่าสูงเพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ การออม รองรับสังคมสูงวัย และยังต้องแก้ไข พ.ร.บ. ป่าไม้ พ.ศ. 2484 และ พ.ร.บ.อื่นๆ และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อขจัดอุปสรรค ส่งเสริม สนับสนุน และจูงใจให้ประชาชนและชุมชนปลูกต้นไม้ยืนต้นมูลค่าสูงในที่ดินกรรมสิทธิ์เพื่อการออม และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ
การปลดล็อกให้ไม้ยืนต้น 58 ชนิดเป็นหลักประกันธุรกิจได้ อาจยังไม่เพียงพอ รัฐบาลจะต้องเร่งพิจารณาแก้กฎหมายปลดล็อกให้สามารถตัดไม้มีค่าบางชนิดในที่ดินตัวเองมาขายได้ด้วยตามความเหมาะสม เปลี่ยนแปลงเป็นรายได้ ช่วยส่งเสริมท้องถิ่นเข้มแข็ง เพิ่มทางเลือกในการลงทุน เอื้ออำนวยต่อเศรษฐกิจฐานราก
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง...
- พณ.แจง “ต้นไม้” เป็นหลักประกันกู้ เพิ่มช่องทางให้ผู้มีรายได้น้อย
Source : ฐานเศรษฐกิจ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น