วันพฤหัสบดีที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2561

วันมาฆบูชา ๒๕๖๑ วันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๖๑


วันมาฆบูชา ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 3 ถือเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาวันหนึ่ง และได้เวียนมาบรรจบอีกครั้ง โดย วันมาฆบูชา 2561 ตรงกับวันพฤกัสบดี ที่ 1 มีนาคม 2561 วันนี้ผมขอนำเอาประวัติวันมาฆบูชา ความสำคัญของวันมาฆบูชามีความสำคัญอย่างไร มาฝากครับ

ความหมายของวันมาฆบูชา

          คำว่า "มาฆะ" นั้น เป็นชื่อของเดือน ๓ ย่อมาจากคำว่า "มาฆบุรณมี" หมายถึง การบูชาพระในวันเพ็ญกลางเดือนมาฆะ จึงเรียกวันนี้ว่า "วันมาฆบูชา"

          การกำหนดวันมาฆบูชาตามปฏิทินจันทรคติของไทยนั้นจะตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 แต่ถ้าปีใดมีเดือนอธิกมาส คือมีเดือน 8 สองครั้ง วันมาฆบูชาก็จะเลื่อนไปเป็นวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4 และมักตรงกับเดือนกุมภาพันธ์หรือมีนาคม

 ความสำคัญวันมาฆบูชาและประวัติวันมาฆบูชา

          ความสำคัญของวันมาฆบูชา คือเป็นวันที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง "โอวาทปาติโมกข์" แก่พระสงฆ์เป็นครั้งแรก หลังจากตรัสรู้มาแล้วเป็นเวลา 9 เดือน ซึ่งหลักคำสอนนี้เป็นหลักการ และวิธีการปฏิบัติต่างๆ หากสรุปเป็นใจความสำคัญ จะมีเนื้อหาว่า "ทำความดี ละเว้นความชั่ว ทำจิตใจให้บริสุทธิ์"

          ทั้งนี้ในวันมาฆบูชาได้เกิดเหตุอัศจรรย์ขึ้นพร้อมๆ กันถึง 4 ประการ อันได้แก่

          1.วันนั้นตรงกับวันเพ็ญ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 ซึ่งพระจันทร์เสวยมาฆฤกษ์

          2.มีพระสงฆ์จำนวน 1,250 รูป มาประชุมพร้อมกันโดยมิได้นัดหมาย ณ วัดเวฬุวัน เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ เพื่อสักการะพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

          3.พระสงฆ์ที่มาประชุมทั้งหมดล้วนแต่เป็นพระอรหันต์ ผู้ได้อภิญญา 6

          4.พระสงฆ์ทั้งหมดได้รับการอุปสมบทโดยตรงจากพระพุทธเจ้า หรือ "เอหิภิกขุอุปสัมปทา"

          และเพราะเกิดเหตุอัศจรรย์ 4 ประการข้างต้น ทำให้วันมาฆบูชา เรียกอีกชื่อหนึ่งได้ว่า "วันจาตุรงคสันนิบาต" ซึ่งคำว่า "จาตุรงคสันนิบาต" นี้ มีความหมายตามการแยกศัพท์คือ

          จาตุร แปลว่า 4
          องค์ แปลว่า ส่วน
          สันนิบาต แปลว่า ประชุม

          ดังนั้น "จาตุรงคสันนิบาต" จึงหมายความว่า "การประชุมด้วยองค์ 4" นั่นเอง

          ทั้งนี้วันมาฆบูชาถือว่าเป็นวันพระธรรม ขณะที่วันวิสาขบูชาถือว่าเป็นวันพระพุทธ ส่วนวันอาสาฬหบูชา เป็นวันพระสงฆ์

กิจกรรมสำหรับพุทธศาสนิกชน (รัฐบาลกำหนดให้เป็นวันหยุดนขัตฤกษ์ ให้เป็นวันหยุดของหน่วยงานราชการ รวมทั้งบริษัทเอกชน สำนักงาน โรงงาน ต่างๆ ยกเว้นผู้ประกอบการในบางประเภทบางท่านอาจจะไม่ได้หยุดตรงวัน อาจจะเก็บไปหยุดชดเชยทีหลังหรือคิดเป็นโอทีแทน เช่น พนง.ขายตามห้างสรรพสินค้า พนง.ในโรงแรม เป็นต้น... เพื่อจะได้มีเวลาในการร่วมกันปฏิบัติศาสนกิจตามหน้าที่ของการเป็นศาสนิกชนอันพึงปฏิบัติ)

    ในช่วงเช้า...  สำหรับท่านที่สะดวกก็จะเข้าวัดนำอาหารหวานคาวต่างๆไปทำบุญ ใส่บาตร ถวายภัตตาหารแด่พระภิกษุสงฆ์  รับฟังธรรมเทศนา รักษาศีล รับพร เพื่อความสุข ความสงบ และเป็นสิริมงคลในการดำรงชีวิตตามครรลองอัดดีงามต่อๆไป

     ในช่วงเย็น... ก็จะเป็นการเวียนเทียนเพื่อสักการะบูชาด้วยดอกไม้ ธูป เทียน โดยพร้อมใจกันสวดมนต์สรรเสริญคุณพระพุทธเจ้า พระธรรม และ พระสงฆ์ โดยเดินวนขวารอบพระอุโบสถสามรอบตามลำดับ (บางวัดในชนบทที่ยังไม่มีอุโบสถ ก็เวียนเทียนรอบศาลาการเปรียญ ก็ได้) รับศีล รับฟังธรรมเทศนาและรับพรอันประเสริฐจากพระคุณเจ้า

   ***  ในบางพื้นที่อาจะเวียนเทียนกันในช่วงเช้า หรือบ่าย ก็ได้ ตามเหตุและปัจจัย ความสะดวก ปลอดภัย อทิ ในต่างจังหวัดบางที่ หรือในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ***



ไม่มีความคิดเห็น:

Most watched