ชื่อของเขาแปลว่าผู้รับใช้อ่อนโยนของพระเจ้า และเขาก็ใช้ชีวิตดั่งนามของเขา
อับดุล ฮาลิม บิน อิสมาอิล เป็นเด็กชายไทยมุสลิม เกิดที่ตีนเขาหลวง นครศรีธรรมราช บ้านเป็นปอเนาะ ทวดเป็นผู้บุกเบิกชุมชนมุสลิมในจังหวัด ตาเป็นโต๊ะครูคนแรกของปอเนาะที่บ้านตาล
เมื่ออายุสองขวบ พ่อกับแม่ไปศึกษาศาสนาที่เมกกะ ซาอุดิอาระเบีย เขาจึงอยู่ในความดูแลของตากับยาย
ครั้นอายุหกขวบ เขาเข้าศึกษาสายสามัญในโรงเรียนไทย กลางวันเดินเท้าเปล่าหิ้วปิ่นโตไปเรียนที่วัดบ้านตาล เรียนหนังสือในชายคาวัด ท่องมงคลสูตรของพุทธศาสนา กลางคืนเรียนศาสนาอิสลามที่ปอเนาะ เขาเติบโตในวัฒนธรรมทั้งไทยและอิสลาม เขาเดินบนสะพานเชื่อมสองวัฒนธรรม
ทุกเช้าเขาตื่นตีสี่ ทำละหมาด แม่อ่านคัมภีร์กุรอานให้ฟังก่อนเข้านอน
ยามค่ำคืนในปอเนาะ เด็กชายนวดคุณตาที่ล้อมวงคุยกับชาวบ้าน พวกเขาถกเรื่องต่างๆ เช่น ใครคนหนึ่งตั้งคำถามว่าถ้าพระเจ้าทรงสร้างและกำหนดสิ่งต่างๆ ด้วยการพูด การที่ดอกไม้บาน ผลิใบ งอกรากงอกกิ่งทุกวัน เกิดขึ้นเพราะพระเจ้าพูดให้เป็นอย่างนั้นทุกๆ วันหรือ ใช่ไหมว่าพระเจ้าเพียงแค่สร้างกฎเกณฑ์ขึ้นมา แล้วให้สรรพสิ่งดำเนินไปตามทางของมันเอง เขาไม่ค่อยเข้าใจ แต่มันจุดไฟความอยากรู้อยากเห็นในตัวเขาลุกโพลง
.………………..
อับดุล ฮาลิม ขี่จักรยานวันละยี่สิบกิโลเมตรไปเรียนหนังสือในตัวเมือง ถนนไปโรงเรียนเป็นดินแดง เมื่อฝนตกจะเป็นหลุมบ่อน้ำขัง วันหนึ่งขณะขี่จักรยานไปโรงเรียน รถยนต์คันหนึ่งขับผ่านไป ล้อทับหลุม น้ำโคลนสีแดงกระเซ็นใส่ชุดนักเรียนของเขาเลอะทั้งตัว เขาได้คิดว่า วันหนึ่งถ้าเขาเป็นใหญ่เป็นโตจะจัดการปรับปรุงถนนสายนี้ให้ปลอดหลุมบ่อ
ครั้งหนึ่งเขาทำงานช่วยอาสาสมัครสันติภาพชาวอเมริกันคู่หนึ่งที่มาทำงานเพื่อสังคม อาจารย์ทั้งสองเห็นแววในตัวเขา จึงแนะนำให้เขาสอบชิงทุน American Field Service (AFS) เขาไม่เคยได้ยินชื่อทุนนี้มาก่อน แต่เขาก็ไปสอบ และได้รับทุนนั้น เป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนรุ่นที่ 6 ไปเรียนชั้นมัธยมปลายที่สหรัฐอเมริกาเป็นเวลาหนึ่งปี
ทุน AFS มาพร้อมกับอุปสรรค ตา ยาย และเหล่าผู้อาวุโสในชุมชนไม่อยากให้เด็กปอเนาะไปศึกษาในสหรัฐฯ ‘โลกของซาตาน’ คนในหมู่บ้านประชุมเรื่องอนาคตของ อับดุล ฮาลิม ในที่สุดก็ยอมให้เด็กชายไป เพราะตาของเขาให้เหตุผลว่า เลี้ยงหลานคนนี้มาแต่เล็ก รู้นิสัยใจคอว่าไม่เสียคนแน่
แล้วเด็กปอเนาะตีนเขาหลวงก็เดินทางเข้าไปสู่โลกใหม่
หนึ่งปีนั้นเปิดหน้าต่างสู่โลกกว้าง เขาพัฒนาภาษา ฝึกการเข้าสังคมเชื่อมสัมพันธ์กับคนอื่น โลกใหม่เปิดแนวคิดใหม่ๆ ที่เด็กชายขอบคนหนึ่งไม่เคยคาดถึง
การสัมผัสสังคมที่แตกต่างและวัฒนธรรมที่ไม่เคยพบ ทำให้ อับดุล ฮาลิม เริ่มเข้าใจและเคารพความแตกต่างของผู้คนและวัฒนธรรม มันสอนให้เรียนรู้ที่จะเปรียบเทียบและแยกแยะ บางอย่างดีกว่า บางอย่างด้อยกว่า
เขาชอบคำกล่าวของโสเครตีสว่า ‘ข้าฯรู้ว่าข้าฯไม่รู้อะไร’ ทำให้ต้องเรียนมากขึ้น พร้อมจะรับฟัง และพร้อมจะแลกเปลี่ยน
เขาเรียนรู้ว่ามนุษย์ทั้งปวงเหมือนกัน ต่างกันเพียงรายละเอียดปลีกย่อย การเคารพความแตกต่างของกันและกันจึงสำคัญ
ความรู้ทำให้เขาคิดกว้างขึ้น ศาสนาสอนให้เขาใจกว้างขึ้น รู้ว่ามนุษย์ต่างกับสัตว์ตรงที่สัตว์อยู่เพื่อตัวเอง แต่มนุษย์อยู่ร่วมกันในสังคม จึงไม่ควรมีชีวิตอยู่เพียงเพื่อตัวเอง
ความเป็นชีวิตกว้างกว่าการอยู่เพื่อตัวเอง
.………………..
หลังจากประสบการณ์ในโลกตะวันตก เขาสอบเข้าเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในวันสัมภาษณ์ เขาตกใจเมื่อได้ยินคำถามว่า “วัดพระแก้วมรกตอยู่ฝั่งตะวันตกหรือฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา?” เด็กบ้านนอกเช่นเขาไม่เคยเข้ากรุง
เขาเริ่มตั้งคำถามเกี่ยวกับการศึกษาในระบบ ความรู้ในกรอบอย่างเดียวอาจไม่พอ
การสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้มาพร้อมกับอุปสรรค พ่อที่เพิ่งกลับมาจากเมกกะไม่อยากให้เขาไปเรียนต่อที่นั่น ชายหนุ่มตัดสินใจเรียนต่อโดยหาเงินเรียนเอง
เขาเรียนได้สองปี ก็สอบได้ทุนไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยแคลร์มอนต์ แคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา
ที่สหรัฐฯเขาต้องหาเงินพิเศษ ทำงานทุกอย่าง ล้างจานในร้านอาหาร ทาสี ตัดหญ้า เก็บขยะ และเขาก็ผ่านไปด้วยดี
หลังจากนั้นถนนชีวิตก็มุ่งสู่ฮาร์วาร์ดระดับปริญญาโทและปริญญาเอก
เด็กชายปอเนาะไปไกลกว่าความฝัน
เขารู้ว่าเขามาถึงจุดนี้ได้ด้วยการศึกษา การเรียนรู้
นานปีหลังจากนั้น เขาเขียนในหนังสือเล่มหนึ่งว่า “เมื่อเราเตรียมตัวเองให้พร้อมอยู่เสมอ ไม่เคยหยุดที่จะดิ้นรนเรียนรู้และมองหาสิ่งที่ดีกว่า เมื่อนั้นโอกาสที่บินอยู่สูงลิบลับจะร่อนลงมาเกาะที่บ่าเอง”
.………………..
ตลอดชีวิตของเขา อับดุล ฮาลิม อุทิศเรี่ยวแรงและเวลาส่งต่อความรู้ ประสานสังคม เชื่อมวัฒนธรรมที่แตกต่าง เขาเป็นสะพาน เขาเป็นหน้าต่าง เขาเป็นประตู
ชื่อของเขาแปลว่าผู้รับใช้อ่อนโยนของพระเจ้า และเขาก็ใช้ชีวิตดั่งนามของเขา
บางทีพระเจ้าทรงสร้างและกำหนดสิ่งต่างๆ ด้วยการพูด แล้วสรรพสิ่งเลือกทางเดินชีวิตเอง ทุกชีวิตเกิดมาเพื่อหาความหมายให้ตัวเอง วันแรกที่เกิดมาทุกคนเท่าเทียมกันหมด เป็นทารกแบเบาะที่พ่อแม่ปกป้อง แต่ชีวิตที่แท้จริงเป็นเหมือนขวดเปล่า ที่เจ้าของชีวิตเป็นผู้ใส่ความหมายเข้าไปด้วยตัวเอง
ชีวิตคือผืนผ้าใบว่างเปล่าที่ศิลปินจะต้องระบายสีลงไป ศิลปินคือตัวเองที่เป็นผู้ระบายสีสัน เพื่อให้เห็นภาพสะท้อนที่เป็นความหมายของชีวิต
ชีวิตเป็นเรื่องง่ายๆ ชีวิตเต็มไปด้วยความย้อนแย้ง ไม่มีชีวิตใดราบรื่น สมบูรณ์ เขาเรียนรู้ว่าศิลปะของชีวิตอยู่ที่จะบริหารให้ผ่านความย้อนแย้งนั้นไปได้อย่างไร
ในโลกของความขัดแย้งและเต็มไปด้วยปัญหา แต่ละคน แต่ละสังคม แต่ละวัฒนธรรม พบปัญหาต่างกัน และบ่อยครั้งขัดแย้งกัน คุณค่าของโลกมาจากคุณค่าของคน และคุณค่าของคน มาจากความรัก ความเมตตา ความเอื้ออาทรต่อกัน แม้ว่าจะเป็นคนละเผ่าพันธุ์ ศาสนา และความเชื่อ
อีกครั้งเขาเดินบนสะพานเชื่อมหลายวัฒนธรรม
เขารู้แล้วว่าพระอาทิตย์ของทุกคน ทุกชาติ ทุกภาษา เป็นดวงเดียวกัน
วันพรุ่งนี้พระอาทิตย์ก็ยังขึ้นจากขอบฟ้า และมันก็เป็นวันใหม่
วันพรุ่งนี้ของโลกจะเป็นอย่างไรขึ้นกับวันนี้ของทุกคน
ทำดีที่สุดในวันนี้ ทำดีที่สุดเพื่อคนอื่น
ก่อนนอนทุกคืนเขานึกเสมอว่า “Take it away, God. I have done my best today. Tomorrow I will wake up and do it again.”
พรุ่งนี้พระอาทิตย์ก็ขึ้นอีก
แต่เมื่อเรารู้จักคิดถึงคนอื่น พรุ่งนี้พระอาทิตย์ก็สวยกว่าเดิม
หมายเหตุ : อับดุล ฮาลิม บิน อิสมาอิล ก็คือ ดร. สุรินทร์ พิศสุวรรณ
May you rest in peace.
.………………..
ขอขอบคุณที่มาของบทความ
วินทร์ เลียววาริณ
เฟซบุ๊ค https://www.facebook.com/winlyovarin/
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น