วันพุธที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2559

เพชรน้ำเอก ในบวรพระพุทธศาสนา สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต) โดย - พิสุทธิ์ เกรียงบูรพา

หลังจากที่ชาวไทยกำลังตกอยู่ในภาวะโศกเศร้า อาดูรต่อการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เป็นเวลาเดือนกว่า พระองค์ทรงมอบของขวัญปีใหม่ให้แก่ชาวไทย คือ  สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๑๐ เพื่อให้พสกนิกรของพระองค์อุ่นใจ เมื่อวันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๕๙ ที่ผ่านมา  

และในวันคล้ายวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระองค์ หรือวันพ่อ ที่เราประทับไว้ในดวงใจตลอดกาล เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๕๙ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสถาปนาท่านเจ้าคุณพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) สมณศักดิ์ที่ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ นี่คือข่าวดีที่ชุบชีวิตชีวาให้พวกเราชาวพุทธเป็นอย่างมาก ที่ท่านเจ้าประคุณ ป.อ.ปยุตฺโต ได้รับการถวายโปรดเกล้าฯ จากชั้นพรหมขึ้นเป็น สมเด็จฯ นับเป็นสมเด็จรูปสุดท้ายในรัชกาลที่ ๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และเป็นสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์รูปแรกในรัชกาลที่ ๑๐ เลยในคราวเดียวกัน 
เพชรน้ำเอก ในบวรพระพุทธศาสนา
ใครที่เคยไปกราบนมัสการท่านเจ้าประคุณประยุทธ์ หรือฟังธรรม อ่านหนังสือ ศึกษางาน จริยวัตรของท่าน ก็คงทราบว่าท่านเป็นพระที่เรียบง่ายมาโดยตลอด ผู้เขียนเคยไปเยี่ยมบ้านเกิดท่านที่ อ.ศรีประจันต์ จ.สุพรรณบุรี ผู้นำชุมชนที่นั่นก็ยังคงรักษาสภาพเดิมไว้ ปัจจุบันเป็น "ชาติภูมิสถาน ป.อ.ปยุตฺโต" จัดตั้งขึ้นโดยมูลนิธิ ชาติภูมิ ป.อ.ปยุตฺโต โดยทุนบริจาคจากชาวท้องถิ่นเป็นส่วนสำคัญเพื่อเชิดชูเกียรติแก่ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ และเป็นศูนย์ข้อมูลชีวประวัติและผลงานของนักปราชญ์แห่งยุคสมัย 
ผมเข้าไปกราบรูปท่าน เดินสำรวจอย่างละเอียด เดินขึ้นไปชั้นสอง นั่งลงบนพื้นไม้ ทำสมาธิครู่หนึ่งเพื่อเป็นอาจาริยบูชา เกิดความอิ่มเอมใจที่สุด
ความอาพาธ เสมือนเป็นวิบากของสังขารร่างกายของท่าน ที่ต้องเผชิญมาตั้งแต่วัยเด็ก จนท่านสามารถใช้ธรรมะแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ควบคุมไว้ได้ทั้งหมด ควบคุมได้ในที่นี้ มิได้หมายถึง ไม่ให้เกิดความเจ็บป่วยแก่ร่างกาย แต่ฝึกจิตมิให้เกิดความทุกข์ต่างหาก ท่านเล่าไว้ว่า...
...พระพุทธองค์เคยตรัสสอนไว้ว่า ให้ทำในใจ ตั้งใจไว้ว่า “ถึงแม้ร่างกายของเราจะป่วย แต่ใจของเราจะไม่ป่วยไปด้วย” การตั้งใจแบบนี้เรียกว่า “มีสติ” ทำให้จิตใจไม่ตกอยู่ในอำนาจครอบงำของความแปรปรวนทางร่างกายนั้น เมื่อมี “สติ” อยู่ ก็รักษา “ใจ” ไว้ได้... 
“กาย” เป็นหน้าที่ของแพทย์ แพทย์ก็รักษาไป แต่ “ใจ” นั้นเป็นหน้าที่ของเรา เราต้องรักษาใจของตนเอง... จริงอยู่ เป็นธรรมดาที่ว่า ทุกขเวทนา ความเจ็บปวดต่างๆ ความอ่อนแรง กำลังของร่างกายนั้น ย่อมมีผลต่อจิตใจ พระพุทธเจ้าจึงตรัสไว้เสมอว่า ให้รักษา “ใจ” ของตนเอง รักษาด้วยอะไร ก็รักษาด้วย “สติ” อาจจะเป็นคำภาวนาไว้ในใจตลอดเวลาก็ได้ว่า กายป่วยใจไม่ป่วย กายป่วยใจไม่ป่วยๆๆ อยู่เสมอ ใจเรา ก็จะไม่เลื่อนลอย เคว้งคว้างไป (อ้างอิง...หนังสือ “รักษาใจยามป่วยไข้” กองทุนวุฒิธรรม ๒๕๓๕)
๒๐ กว่าปีที่แล้ว ผมเคยนำประโยคนี้ พูดให้สติคุณพ่อตัวเอง ก่อนเข้าห้องผ่าตัด ซึ่งเป็นการเข้าโรงพยาบาลครั้งแรกในชีวิตชายวัย ๗๐ กว่า ชาวจีนโพ้นทะเลจากแผ่นดินใหญ่ สีหน้าที่วิตกและจิตใจที่กำลังหวาดกลัวของท่าน เป็นอันระงับไป
ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ยังมีไหวพริบในคำอรรถาธิบายธรรมของท่าน ให้เราเข้าใจอย่างลึกซึ้ง ในหลักธรรมของพระพุทธเจ้า อย่างเช่นเรื่องหลักอริยสัจ ๔ ท่านสอนไว้ว่า...
ทุกข์คือตัวปัญหา เรามีหน้าที่ต่อมันอย่างไร ก็คือ หน้าที่ที่ต้องทำความรู้จัก (ทุกข์ ต้องกำหนดรู้) ปัญหาของเราคืออะไร ขอบเขตของมันอยู่ที่ไหน อะไรเป็นที่ตั้งของปัญหา ถ้าจับไม่ถูกก็เดินหน้าต่อไปไม่ได้ จับตัวปัญหาให้ได้เสียก่อน แล้วเรียนรู้สิ่งที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับปัญหานั้นทั้งหมด...
สมุทัยคือเหตุของทุกข์ สืบสาวหามันให้พบ กระบวนการที่ทำให้มันเกิดขึ้นเป็นอย่างไร (ปฏิจจสมุปบาท) แล้วกำขัดมันเสีย (สมุทัย ต้องละ)
นิโรธคือความดับทุกข์ สภาวะปราศจากปัญหา เป็นความมุ่งหมายของการแก้ปัญหาสำเร็จแล้ว คืออะไร (นิโรธต้องทำให้แจ้ง)
และอริยสัจข้อสุดท้าย มรรค ทางเดิน ก็คือข้อปฏิบัติ ซึ่งเรามีหน้าที่ต้องลงมือทำ ตามหลักอริยมรรคมีองค์ ๘ หรือ ไตรสิกขา (มรรคต้องเจริญ) ... ฯลฯ
  นอกจากนี้ ท่านยังสรุปคุณค่าที่เด่นของหลักอริยสัจ ไว้ว่า
๑. เป็น วิธีการแห่งปัญญา แก้ไขปัญหาตามระบบเหตุผล
๒.เป็นวิธีจัดการกับชีวิตของตนด้วย สติปัญญาของมนุษย์เอง
๓ เป็นความจริง ที่มีอยู่ตามธรรมชาติ และเกี่ยวข้องกับชีวิตของทุกคน
๔.เป็นหลักความจริงกลางๆ ที่ติดเนื่องอยู่กับชีวิต หลักอริยสัจนี้ยังคงยืนยงและใช้ประโยชน์ได้ตลอดทุกกาล
หากสังเกตงานเขียน ตำราต่างๆ ของท่าน จะพบว่า ท่านใช้ความพยายามอุตสาหะอย่างเต็มที่ เพื่อจะรวบรวม เรียบเรียงให้งานออกมาที่สมบูรณ์ที่สุด แม้จะต้องใช้เวลาถึงสิบกว่าปี ในบางเล่ม เช่น หนังสือพุทธธรรม ซึ่งก็ถือว่าคุ้มค่าความเพียรของท่านจริงๆ เพราะนับเป็นงานเพชรน้ำเอกในวงการพุทธศาสนา ชิ้นหนึ่งเลยทีเดียว และที่สำคัญอีกอย่างก็คือ ท่านเป็นผู้ริเริ่มนำพระไตรปิฎกลงซีดีรอมด้วย ผมรู้สึกนับถือจากใจจริง เพราะนอกจากท่านจะรู้จริง สร้างงานได้ยอดเยี่ยมแล้ว ท่านยังเป็นพระที่สมถะ ไม่สนใจในลาภ ยศ สรรเสริญอีกต่างหาก  ท่านมักเขียนระบุไว้ท้ายหนังสือบางเล่มที่ท่านเขียน หรือกล่าวไว้ในโอกาสต่างๆ กัน ทำนองว่า... หากท่านผู้อ่าน ได้ประโยชน์จากงานชิ้นนี้ ผู้เขียนก็ขออนุโมทนาด้วย แต่ไม่จำเป็นต้องมาหา หรือมาเยี่ยมเยียนตัวผู้เขียนแต่อย่างใด  
ความหมายนั้น ไม่ใช่ว่า ท่านไม่อยากให้พบ แต่เมื่อใครอ่านงานท่าน แล้วพบธรรมะ คือความสงบเย็นในใจ แก้ปัญหาชีวิตตนเองได้ นั่นก็คือ ผู้นั้นมีธรรมะแล้ว ธรรมะไม่ได้อยู่ที่ผู้อื่น
ความสม่ำเสมอของท่านนั้น ความไม่ยึดมั่นในอัตตาหรือยึดติดในทิฐิ ยังเป็นเช่นนั้นเสมอมา ดูจากคำสัมโมทนียกถา ที่ท่านกล่าวไว้เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม ที่ผ่านมา ...
สัมโมทนียกถา... สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์  ๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๕๙ เวลา ๒๐.๓๐ น. "การได้รับสมณศักดิ์อะไรต่าง ๆ ไม่สำคัญ สำคัญที่ว่าวันนี้คือวันที่ ๕ ธันวาคม สำคัญกว่าที่พวกเราจะต้องสำนึกในพระราชกรณียกิจของในหลวงรัชกาลที่ ๙ ที่มีต่อบวรพุทธศาสนา...คาดเดาจากความเป็นจริง...เพราะอาตมาไม่เคยเข้าวัง ออกงานหลวงใด ๆ เลยมา ๒๕ ปี ย้ายไปอยู่ตามดงตามป่ามากกว่าอยู่วัดญาณเวศกวัน แต่สิ่งที่ไม่เคยหยุดเลยคือการแต่งหนังสือ...และสิ่งนี้เองก็ไม่ได้เล็ดลอดสายพระเนตรของในหลวงรัชกาลที่ ๙... เรื่องสมณศักดิ์เลื่อนกันไปเรื่องของในรั้วในวัง แต่พระก็ยังเป็นพระคนหนึ่งเหมือนเดิม จะเรียกท่านเจ้าประคุณอะไรก็ไม่สำคัญ ก็เป็นหลวงปู่หลวงพ่อนั่นล่ะ... ต่อไปนี้ก็ต้องดูว่าสิ่งที่ต้องทำกับสิ่งที่ต้องเป็นจะเป็นอย่างไร.... ขอบพระคุณพระมหาเถระทุกท่าน และขออนุโมทนาโยมญาติมิตรทุกท่าน"
นี่ล่ะครับ ชัยมงคลแห่งชาติ หน่อเชื้อแห่งการสืบพระศาสนาของเรา พระสมเด็จรูปสุดท้าย ที่ได้รับสมณศักดิ์จากการทำงานเพื่อพระพุทธศาสนามาโดยตลอด ท่านมิได้ติดในสมณศักดิ์ใดๆเลย ตั้งแต่ได้รับการแต่งตั้งมา ท่านจึงปรารถนาให้เรียกท่านอย่างเรียบง่าย แบบเดิมๆ ว่า หลวงพ่อ หลวงปู่ พระอาจารย์
ข้าพเจ้าขออนุโมทนาสาธุการครับ
พระเสาหลัก Low profile อยู่เบื้องหลัง
ไม่โด่งดัง แต่บารมี กลับสาดแสง
เรืองรองทั่ว สยาม ข้ามถึงต่างแดน
ท่านแน่นแฟ้น ในแก่นธรรม เสมอมา
ไม่ฉาบฉวย สร้างแบรนด์ สำแดงภูมิ
ไม่ชักจูง ศิษย์ใด ให้โหยหา (ศรัทธา)
ปลีกวิเวก อยู่แต่ป่า เขียนตำรา
ยังย้ำว่า ไม่ต้องมา กราบเยี่ยมเยียน
แม้อาพาธ มาแต่เกิด ยังเฉิดฉาย
  คงรักษา ธรรมวินัย ไม่ผิดเพี้ยน
  ร่างกายพร่อง ใช่ขัดข้อง ซึ่งความเพียร
  สร้างงานเขียน เพชรน้ำเอก เป็นหลักฐาน
เป็นอาจารย์ ของพระ ในทุกสาย
พิสุทธิ์ใส ไร้มลทิน ศีลของท่าน
สมเด็จพระ พุทธะ โฆษาจารย์
พระนามท่าน สร้างมงคล แก่ชนชาติไทยฯ  
ล้อมกรอบ 
ชาติภูมิสถาน ป.อ.ปยุตฺโต
ที่ตั้ง:เลขที่ ๔๙ หมู่๓ ตลาดศรีประจันต์ ต.ศรีประจันต์ อ.ศรีประจันต์ จ.สุพรรณบุรีโทรศัพท์ ๐-๓๕๕๔-๘๗๒๒ เวลาทำการ:ทุกวันอังคาร-วันอาทิตย์ เว้นวันจันทร์ (ไม่หยุดในวันนักขัตฤกษ์) เวลา ๐๙.๐๐-๑๗.๐๐ น. ไม่เสียค่าเข้าชม
ขอขอบคุณเนื้อหาจาก คม ชัด ลึก
Cr : http://www.komchadluek.net/news/amulets/252318

ไม่มีความคิดเห็น:

Most watched