วันศุกร์ที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2559

รีไทร์พระ บทความโดย : วินทร์ เลียววาริณ

ชาวพุทธแต่โบราณมีกฎกติกาจัดการกับพระไม่ดีอย่างชัดเจนและเข้มงวด ผู้ที่บวชแล้วทำให้ศาสนาเสื่อม จะถูกอัปเปหิจากวัดทันที

อย่าว่าแต่การทำผิดวินัยสงฆ์เลย แม้แต่พระที่ไม่มีความรู้ทางธรรม บวชแล้วไม่ศึกษาจนรู้ ก็ให้สึกเหมือนกัน

พระพรหมคุณาภรณ์เคยเล่าว่า ในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช มีหน่วยทดสอบความรู้ของพระ ถ้าพระผู้เข้าสอบไม่รู้พอ กรรมการก็จะยื่นผ้าขาวให้ เป็นความหมายว่าให้สึกเสียนะ

สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชก็มีกองสอบความรู้เหมือนกัน สอบไม่ผ่าน ก็รีไทร์สถานเดียว

สมัยนี้ถ้าให้พระทั้งประเทศสอบแบบนี้ เราอาจเหลือพระน้อยลงไปมาก

ก็เหมือนทุกระบบที่เมื่อคนรักษากฎอ่อนแอ กฎก็หย่อนยาน มีตัวอย่างในบ้านเรามากมายจนเบื่อหน่าย

ถ้าเป็นพระระดับเล็กๆ หนีเที่ยวกลางคืนหรือพาสีกาเข้ากุฏิ ก็ถูกจับสึกทันทีทันใจ เจ้าหน้าที่มาเร็วเคลมเร็ว

ถ้าเป็นพระระดับใหญ่ ทำเรื่องชั่วขนาดไหน ก็ต้องตีความก่อน

"เรื่องมันละเอียดอ่อน"

อืม! เห็นปลวกขึ้นบ้านตำตาแล้วต้องตีความก่อนว่า "ปลวกมาทำอะไรกันจ๊ะ" และ "เรื่องมันละเอียดอ่อน" คงไม่นานหรอกนะที่บ้านพังครืนลงมา

นานมาแล้วรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระบรมราโชวาทว่า "ในบ้านเมืองนั้นมีทั้งคนดีและคนไม่ดี ไม่มีใครจะทำให้ทุกคนเป็นคนดีได้ทั้งหมด การทำให้บ้านเมืองมีความปรกติสุขเรียบร้อย จึงมิใช่การทำให้ทุกคนเป็นคนดี หากอยู่ที่การส่งเสริมให้คนดีได้ปกครองบ้านเมือง และควบคุมคนไม่ดีไม่ให้มีอำนาจ ไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้"

พระบรมราโชวาทดังกล่าวสามารถขยายความไปยังหมู่สงฆ์ได้ด้วย เนื่องจากพระสงฆ์เป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ หากอลัชชีนำทางชาวบ้านหลงทาง ก็ย่อมเป็นอันตรายมิเพียงต่อจิตวิญญาณของคนคนเดียว แต่ทั้งประเทศ

นี่ไม่ใช่เรื่องเล่น เพราะหากคนไร้คุณภาพ หัวมีแต่ความโลภหลง บ้านเมืองก็พังได้

ดังนั้นอยากให้พุทธศาสนาขนานแท้อยู่คู่กับประเทศไทย พุทธบริษัททั้งสี่ก็ต้องช่วยกันดูแลอย่างเข้มงวด ไม่ยอมให้ปลวกเกาะกิน

ไม่เพียงแต่สอบเช็กระดับความรู้เท่านั้น ความจริงเราควรเริ่มระบบสอบเข้าเหมือนเอนทรานซ์เข้ามหาวิทยาลัย ผู้ที่อยากบวชควรจะศึกษาก่อน ไม่ใช่ไม่รู้จะทำอะไร ก็ไปบวช

ถ้ามีการสอบเข้าและสอบไล่เป็นพักๆ ศาสนาก็น่าจะแข็งแรงขึ้น

ปลวกน่ะไม่มีทางหมดไปจากโลกหรอก แต่คนมีปัญญาต้องรู้จักเชิญปลวกไปอยู่นอกบ้าน

ยอมมีพระน้อยรูปดีกว่ามีมาก และสร้างปัญหามาก

………………..

ขอขอบคุณบทความโดย : วินทร์ เลียววาริณ
เฟซบุ๊ค https://www.facebook.com/winlyovarin/


ไม่มีความคิดเห็น:

Most watched