กรมอุตุนิยมวิทยา เตือนประเทศไทย ดวงอาทิตย์โคจรอยู่ในแนวตั้งฉาก มีสิทธิ์ร้อนระอุทะลุถึง 44 องศาเซลเซียส ในรอบ 55 ปี เทียบเท่าเมืองในทะเลทราย โดยเริ่มตั้งแต่ 9 เม.ย. ถึงกลาง พ.ค. โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือ-อีสาน ที่ส่วนใหญ่เป็นหุบเขา ชุมชนเมือง ส่อความร้อนพุ่ง ส่วนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ คาดอุณหภูมิทั่วประเทศ เฉลี่ย 37-38 องศาฯ เตือนหากอุณหภูมิถึง 40 องศาฯ หวั่นประชาชนปรับตัวไม่ทันอันตรายถึงชีวิต ด้าน สธ.ห่วงคนมีโรคประจำตัว-ผู้ทำกิจกรรมกลางแจ้ง ระวังเป็นลมแดด รวมถึงโรคที่มากับฤดูร้อน ทั้งท้องร่วง-พิษสุนัขบ้า สั่งทุกหน่วยงานในสังกัดเตรียมรับมือ...ประเทศไทยเตรียมเผชิญภาวะอากาศร้อนระอุแบบทะเลทรายจากดวงอาทิตย์โคจรอยู่ในแนวตั้งฉาก โดยเมื่อวันที่ 28 มี.ค. ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจากนายวันชัย ศักดิ์อุดมไชย อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ว่าประเทศไทยมีฤดูร้อน ตั้งแต่เดือน ก.พ.-พ.ค.เท่านั้น ส่วนอากาศจะร้อนที่สุดวันใดขึ้นอยู่กับว่าความร้อนสะสมมากที่สุดช่วงใดของเดือน ประกอบกับรังสีของดวงอาทิตย์แผ่รัศมีกว้างไกล หรือวงดวงอาทิตย์จะโคจรมาอยู่ในแนวตั้งฉากผ่านเหนือศีรษะพอดี ทำให้พื้นที่ที่ถูกปกคลุมล้อมรอบหุบเขา และพื้นที่ในตัวเขตเมืองชุมชน จะไม่มีลมช่วยผ่อนคลายลดอุณหภูมิ เกิดความร้อนอบอ้าวรุนแรง สำหรับปีนี้คาดว่าดวงอาทิตย์จะตั้งฉากตรงกับประเทศไทย เริ่มตั้งแต่พื้นที่ภาคใต้ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา วันที่ 9-10 เม.ย. จะมีอากาศร้อนที่สุดระหว่าง 36-37 องศาเซลเซียส จากนั้นดวงอาทิตย์จะเคลื่อนเข้ามาตั้งฉากพื้นที่ภาคกลาง ในวันที่ 27 เม.ย.ในพื้นที่ จ.ปราจีนบุรี จ.สระแก้ว รวมถึงกรุงเทพฯ และปริมณฑล อากาศร้อนที่สุดระหว่าง 40-41 องศาเซลเซียสนายวันชัย กล่าวอีกว่า ส่วนพื้นที่ภาคอีสาน ดวงอาทิตย์จะตั้งฉากในวันที่ 6 พ.ค. โดยเฉพาะพื้นที่ จ.เลย จ.หนองบัวลำภู จ.ศรีสะเกษ จะมีอากาศร้อนที่สุดระหว่าง 42-43 องศาเซลเซียส ในวันที่ 14 พ.ค. ดวงอาทิตย์จะเคลื่อนตัวไปตั้งฉากในพื้นที่ภาคเหนือ อากาศร้อนรุนแรงที่สุดระหว่าง 42-43 องศาเซลเซียส ถือว่าเป็นอุณหภูมิสูงสุดของประเทศไทย เพราะพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นหุบเขา ไม่มีแหล่งน้ำช่วยคลายความเย็นได้ ทั้งนี้การตั้งฉากของดวงอาทิตย์จะเคลื่อนตัวไปเรื่อย โดยจะตั้งฉากจุดร้อนที่สุด แต่ละปีจะนานมากสุดไม่เกิน 2 วัน จากนั้นจะเคลื่อนที่ไปพื้นที่อื่น บางพื้นที่อาจมีอุณหภูมิสูงถึง 44 องศา–เซลเซียส ในช่วงระยะเวลาสั้นๆ อากาศร้อนเทียบเท่าประเทศในทะเลทราย ตามสถิติอุณหภูมิสูงสุดในช่วงฤดูร้อนของประเทศไทย ระหว่าง พ.ศ.2494-2557 พบว่า ปี 2503 มีอุณหภูมิสูงสุด 44.5 องศาเซลเซียส ในพื้นที่ จ.อุตรดิตถ์ และไม่เคยมีปีใด มีอุณหภูมิถึง 44 องศาเซลเซียสอีกเลย จนมาถึงครั้งนี้ สำหรับวันที่ 12-15 เม.ย. ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ อุณหภูมิทั่วประเทศเฉลี่ยอยู่ 37-38 องศาเซลเซียส แต่อุณหภูมิจะสูงที่สุดหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง หากมีฝนตกหรือได้รับอิทธิพลจากมรสุม อาจส่งผลให้อุณหภูมิไม่สูงที่สุดตามที่คาดการณ์กันไว้"ดังนั้นอุณหภูมิสูง 40 องศาเซลเซียส ถือว่าเป็นสภาพที่ร้อนจัด เพราะสูงกว่าอุณหภูมิร่างกาย 37 องศาเซลเซียส ประชาชนควรต้องปรับตัวระวังหยุดทำกิจกรรมในที่โล่งแจ้ง เน้นกลุ่มบุคคลมีโรคประจำตัว โดยเฉพาะผู้ป่วยเกี่ยวกับความดันสูง เพราะในปี 2557 มีผู้ป่วยเสียชีวิตจากอากาศร้อนจัด จนเส้นเลือดสมองแตกหลายราย ขณะที่สัตว์เลี้ยง อาจจะร้อนตายได้เช่นกัน หรือหยุดให้ผลผลิต6 เช่น ไก่ไข่ อาจไม่ออกไข่ รวมถึงต้องระวังเด็กลงเล่นน้ำคลายร้อน เพราะอาจทำให้เด็กจมน้ำเสียชีวิตด้วย" นายวันชัย กล่าว ด้าน นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ในช่วงดวงอาทิตย์ตั้งฉากตรงกับประเทศไทยนั้น พบมีผู้เสียชีวิตด้วยโรคลมแดดทุกปี เกิดจากร่างกายได้รับความร้อนสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยโรคหัวใจ โรคความดันสูง และเบาหวาน รวมถึงผู้ติดเหล้า นักกีฬา คนงาน เกษตรกร หรือทหาร ต้องทำกิจกรรมกลางแจ้งเป็นเวลานาน มีรายงานข้อมูลผู้เสียชีวิตเฉลี่ยปีละ 3-4 ราย นอกจากนี้ช่วงฤดูร้อนยังเหมาะกับการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียที่ส่งผลให้เกิดโรคอุจจาระร่วง เกิดจากดื่มน้ำแข็ง และน้ำเปล่าไม่สะอาด ในปี 2557 มีผู้เสียชีวิต 2 ราย โรคพิษสุนัขบ้า มีผู้เสียชีวิต 1 ราย รวมถึงมีเด็กลงเล่นน้ำคลายร้อนจมน้ำเสียชีวิต 807 ราย ทั้งนี้ นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รมว.สาธารณสุข มีคำสั่งด่วนที่สุดถึงหน่วยงานสังกัดกระทรวงสาธารณสุข รวมถึงโรงพยาบาลทุกแห่ง ต้องมีแผนป้องกันโรคภัยที่มากับฤดูร้อนแล้ว
ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์
อีกหนึ่งช่องทางการรับรู้ข่าวสารเตือนภัยผ่านทาง Torakhong Blogger : Suban Blog
คลิ๊ก http://suban2008.blogspot.com/