วันศุกร์ที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2560

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑ พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๑ มหาวิภังค์ ภาค ๑

ภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น.
เวรัญชกัณฑ์
เรื่องเวรัญชพราหมณ์
[๑] โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ ควงไม้สะเดาที่นเฬรุยักษ์ สิงสถิต เขตเมืองเวรัญชา พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๕๐๐ รูป เวรัญชพราหมณ์ ได้สดับข่าวถนัดแน่ว่า ท่านผู้เจริญ พระสมณะโคดมศากยบุตร ทรงผนวชจากศากยตระกูล ประทับอยู่ ณ บริเวณต้นไม้สะเดาที่นเฬรุยักษ์สิงสถิต เขตเมืองเวรัญชา พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ หมู่ใหญ่ประมาณ ๕๐๐ รูป ก็แลพระกิตติศัพท์อันงามของท่านพระโคดมพระองค์นั้น ขจรไปแล้ว อย่างนี้ว่า พระผู้มีพระภาคองค์นั้น ทรงเป็นพระอรหันต์แม้เพราะเหตุนี้ ทรงตรัสรู้เองโดยชอบ แม้เพราะเหตุนี้ ทรงบรรลุวิชชาและจรณะแม้เพราะเหตุนี้ เสด็จไปดีแม้เพราะเหตุนี้ ทรงทราบ โลกแม้เพราะเหตุนี้ ทรงเป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึกไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่าแม้เพราะเหตุนี้ ทรงเป็น ศาสดาของเทพและมนุษย์ทั้งหลายแม้เพราะเหตุนี้ ทรงเป็นพุทธะแม้เพราะเหตุนี้ ทรงเป็นพระ ผู้มีพระภาคแม้เพราะเหตุนี้ พระองค์ทรงทำโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลกให้แจ้งชัด ด้วยพระปัญญาอันยิ่งของพระองค์เอง แล้วทรงสอนหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณะพราหมณ์ เทพ และมนุษย์ ให้รู้ ทรงแสดงธรรมงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ทรงประกาศ พรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถทั้งพยัญชนะครบบริบูรณ์บริสุทธิ์ อนึ่ง การเห็นพระอรหันต์ทั้งหลายเห็น ปานนั้น เป็นความดี.
เวรัญชพราหมณ์กล่าวตู่พระพุทธเจ้า
[๒] หลังจากนั้น เวรัญชพราหมณ์ได้ไปในพุทธสำนัก ครั้นถึงแล้วได้ทูลปราศรัยกับ พระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการทูลปราศรัยพอให้เป็นที่บันเทิงเป็นที่ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง เวรัญชพราหมณ์นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้ทูลคำนี้แด่พระผู้มีพระภาค ว่า ท่านพระโคดม ข้าพเจ้าได้ทราบมาว่า พระสมณะโคดม ไม่ไหว้ ไม่ลุกรับพวกพราหมณ์ผู้แก่ ผู้เฒ่า ผู้ใหญ่ ผู้ล่วงกาล ผ่านวัยมาโดยลำดับ หรือไม่เชื้อเชิญด้วยอาสนะ ข้อที่ข้าพเจ้าทราบมานี้ นั้นเป็นเช่นนั้นจริง อันการที่ท่านพระโคดมไม่ไหว้ ไม่ลุกรับพวกพราหมณ์ผู้แก่ ผู้เฒ่า ผู้ใหญ่ ผู้ ล่วงกาล ผ่านวัยมาโดยลำดับ หรือไม่เชื้อเชิญด้วยอาสนะนี้นั้น ไม่สมควรเลย. พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรพราหมณ์ ในโลก ทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ใน หมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณะ พราหมณ์ เทพ และมนุษย์ เราไม่เล็งเห็นบุคคลที่เราควรไหว้ ควร ลุกรับ หรือควรเชื้อเชิญด้วยอาสนะ เพราะว่า ตถาคตพึงไหว้ พึงลุกรับ หรือพึงเชื้อเชิญ บุคคลใดด้วยอาสนะ แม้ศีรษะของบุคคลนั้นก็จะพึงขาดตกไป. ว. ท่านพระโคดมมีปกติไม่ไยดี. ภ. มีอยู่จริงๆ พราหมณ์ เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณะโคดมมีปกติไม่ไยดี ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูก เพราะความไยดีในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เหล่านั้น ตถาคต ละได้แล้ว ตัดรากขาดแล้ว ทำให้เป็นเหมือนตาลยอดด้วน ทำไม่ให้มีในภายหลัง มีไม่เกิดอีก ต่อไปเป็นธรรมดา นี้แล เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณะโคดมมีปกติไม่ไยดี ดังนี้ชื่อว่า กล่าวถูก แต่ไม่ใช่เหตุที่ท่านมุ่งกล่าว. ว. ท่านพระโคดมไม่มีสมบัติ. ภ. มีอยู่จริงๆ พราหมณ์ เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณะโคดมไม่มีสมบัติ ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูก เพราะสมบัติ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เหล่านั้น ตถาคตละได้แล้ว ตัดรากขาดแล้ว ทำให้เป็นเหมือนตาลยอดด้วน ทำไม่ให้มีในภายหลัง มีไม่เกิดอีกต่อไปเป็น ธรรมดา นี้แล เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณะโคดมไม่มีสมบัติ ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูก แต่ ไม่ใช่เหตุที่ท่านมุ่งกล่าว. ว. ท่านพระโคดมกล่าวการไม่ทำ. ภ. มีอยู่จริงๆ พราหมณ์ เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณะโคดมกล่าวการไม่ทำ ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูก เพราะเรากล่าวการไม่ทำกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต เรากล่าวการ ไม่ทำสิ่งที่เป็นบาปอกุศลหลายอย่าง นี้แล เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณะโคดมกล่าวการ ไม่ทำ ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูก แต่ไม่ใช่เหตุที่ท่านมุ่งกล่าว. ว. ท่านพระโคดมกล่าวความขาดสูญ. ภ. มีอยู่จริงๆ พราหมณ์ เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณะโคดมกล่าวความขาดสูญ ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูก เพราะเรากล่าวความขาดสูญแห่ง ราคะ โทสะ โมหะ เรากล่าวความ ขาดสูญแห่งสภาพที่เป็นบาปอกุศลหลายอย่าง นี้แล เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณะโคดม กล่าวความขาดสูญ ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูก แต่ไม่ใช่เหตุที่ท่านมุ่งกล่าว. ว. ท่านพระโคดมช่างรังเกียจ. ภ. มีอยู่จริงๆ พราหมณ์ เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณะโคดมช่างรังเกียจ ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูก เพราะเรารังเกียจกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต เรารังเกียจความถึงพร้อมแห่ง สภาพที่เป็นบาปอกุศลหลายอย่าง นี้แล เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณะโคดมช่างรังเกียจ ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูก แต่ไม่ใช่เหตุที่ท่านมุ่งกล่าว. ว. ท่านพระโคดมช่างกำจัด. ภ. มีอยู่จริงๆ พราหมณ์ เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณะโคดมช่างกำจัด ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูก เพราะเราแสดงธรรมเพื่อกำจัด ราคะ โทสะ โมหะ แสดงธรรมเพื่อกำจัดสภาพ ที่เป็นบาปอกุศลหลายอย่างนี้แล เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณะโคดมช่างกำจัด ดังนี้ ชื่อว่า กล่าวถูก แต่ไม่ใช่เหตุที่ท่านมุ่งกล่าว. ว. ท่านพระโคดมช่างเผาผลาญ. ภ. มีอยู่จริงๆ พราหมณ์ เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณะโคดมช่างเผาผลาญ ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูก เพราะเรากล่าวธรรมที่เป็นบาปอกุศล คือ กายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ว่า เป็นธรรมที่ควรเผาผลาญ ธรรมที่เป็นบาปอกุศลซึ่งควรเผาผลาญ อันผู้ใดละได้แล้ว ตัดราก ขาดแล้ว ทำให้เป็นเหมือนตาลยอดด้วน ทำไม่ให้มีในภายหลัง มีไม่เกิดอีกต่อไปเป็นธรรมดา เรากล่าวผู้นั้นว่าเป็นคนช่างเผาผลาญ พราหมณ์ ธรรมทั้งหลายที่เป็นบาปอกุศล ซึ่งควรเผาผลาญ ตถาคตละได้แล้ว ตัดรากขาดแล้ว ทำให้เป็นเหมือนตาลยอดด้วน ทำไม่ให้มีในภายหลัง มีไม่เกิดอีกต่อไปเป็นธรรมดา นี้แล เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณะโคดมช่างเผาผลาญ ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูก แต่ไม่ใช่เหตุที่ท่านมุ่งกล่าว. ว. ท่านพระโคดมไม่ผุดเกิด. ภ. มีอยู่จริงๆ พราหมณ์ เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณะโคดมไม่ผุดเกิด ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูก เพราะการนอนในครรภ์ต่อไป การเกิดในภพใหม่ อันผู้ใดละได้แล้ว ตัดราก ขาดแล้ว ทำให้เป็นเหมือนตาลยอดด้วน ทำไม่ให้มีในภายหลัง มีไม่เกิดอีกต่อไปเป็นธรรมดา เรากล่าวผู้นั้นว่าเป็นคนไม่ผุดเกิด พราหมณ์ การนอนในครรภ์ต่อไป การเกิดในภพใหม่ ตถาคต ละได้แล้ว ตัดรากขาดแล้ว ทำให้เป็นเหมือนตาลยอดด้วน ทำไม่ให้มีในภายหลัง มีไม่เกิดอีก ต่อไปเป็นธรรมดา นี้แล เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณะโคดมไม่ผุดเกิด ดังนี้ ชื่อว่า กล่าวถูก แต่ไม่ใช่เหตุที่ท่านมุ่งกล่าว.
ทรงอุปมาด้วยลูกไก่
[๓] ดูกรพราหมณ์ เปรียบเหมือนฟองไข่ ๘ ฟอง ๑๐ ฟอง หรือ ๑๒ ฟอง ฟองไข่ เหล่านั้น อันแม่ไก่พึงกกดีแล้ว อบดีแล้ว ฟักดีแล้ว บรรดาลูกไก่เหล่านั้น ลูกไก่ตัวใดทำลาย กระเปาะฟอง ด้วยปลายเล็บเท้า หรือด้วยจะงอยปาก ออกมาได้โดยสวัสดีก่อนกว่าเขา ลูกไก่ ตัวนั้นควรเรียกว่ากระไร จะเรียกว่าพี่หรือน้อง. ว. ท่านพระโคดม ควรเรียกว่าพี่ เพราะมันแก่กว่าเขา.
ทรงแสดงฌาน ๔ และวิชชา ๓
ภ. เราก็เหมือนอย่างนั้นแล พราหมณ์ เมื่อประชาชนผู้ตกอยู่ในอวิชชา เกิดในฟอง อันกระเปาะฟองหุ้มห่อไว้ ผู้เดียวเท่านั้นในโลก ได้ทำลายกระเปาะฟอง คือ อวิชชา แล้วได้ ตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณอันยอดเยี่ยม เรานั้นเป็นผู้เจริญที่สุด ประเสริฐที่สุดของโลก เพราะความเพียรของเราที่ปรารภแล้วแล ไม่ย่อหย่อน สติดำรงมั่นไม่ฟั่นเฟือน กายสงบ ไม่ กระสับกระส่าย จิตตั้งมั่น มีอารมณ์เป็นหนึ่ง.
ปฐมฌาน
เรานั้นแล สงัดแล้วจากกาม สงัดแล้วจากอกุศลธรรม ได้บรรลุปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขซึ่งเกิดแต่วิเวกอยู่.
ทุติยฌาน
เราได้บรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิต ณ ภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร เพราะวิตก วิจาร สงบไป มีปีติและสุขซึ่งเกิดแต่สมาธิอยู่.
ตติยฌาน
เรามีอุเบกขาอยู่ มีสติ มีสัมปชัญญะ และเสวยสุขด้วยนามกาย เพราะปีติสิ้นไป ได้บรรลุตติยฌาน ที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่า เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติ มีสุขอยู่ ดังนี้ อยู่.
จตุตถฌาน
เราได้บรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์และดับโสมนัส โทมนัส ก่อนๆ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่.
บุพเพนิวาสานุสสติญาณ
เรานั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ ผุดผ่อง ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควร แก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว อย่างนี้แล้ว ได้น้อมจิตไปเพื่อบุพเพนิวาสานุสสติญาณ เรานั้น ย่อมระลึกชาติก่อนได้เป็นอันมาก คือระลึกชาติได้หนึ่งชาติบ้าง สองชาติบ้าง สามชาติบ้าง สี่ชาติบ้าง ห้าชาติบ้าง สิบชาติบ้าง ยี่สิบชาติบ้าง สามสิบชาติบ้าง สี่สิบชาติบ้าง ห้าสิบชาติบ้าง ร้อยชาติบ้าง พันชาติบ้าง แสนชาติบ้าง ตลอดสังวัฏฏกัลป์เป็นอันมากบ้าง ตลอดวิวัฏฏกัลป์ เป็นอันมากบ้าง ตลอดสังวัฏฏวิวัฏฏกัลป์เป็นอันมากบ้าง ว่าในภพโน้นเราได้มีชื่ออย่างนั้น มีโคตร อย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขทุกข์อย่างนั้นๆ มีกำหนดอายุเพียง เท่านั้น ครั้นจุติจากภพนั้นแล้ว ได้ไปเกิดในภพโน้น แม้ในภพโน้นนั้น เราก็ได้มีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขทุกข์อย่างนั้นๆ มีกำหนด อายุเพียงเท่านั้น ครั้นจุติจากภพโน้นนั้นแล้ว ได้มาเกิดในภพนี้ เราย่อมระลึกถึงชาติก่อนได้เป็น อันมาก พร้อมทั้งอุเทส พร้อมทั้งอาการ ด้วยประการฉะนี้ พราหมณ์ วิชชาที่หนึ่งนี่แล เรา ได้บรรลุแล้วในปฐมยามแห่งราตรี อวิชชา เรากำจัดได้แล้ว วิชชาเกิดแก่เราแล้ว ความมืด เรากำจัดได้แล้ว แสงสว่างเกิดแก่เราแล้ว เหมือนที่เกิดแก่บุคคลผู้ไม่ประมาท มีความเพียร เผากิเลส ส่งจิตไปแล้วอยู่ฉะนั้น ความชำแรกออกครั้งที่หนึ่งของเรานี้แล ได้เป็นเหมือนการ ทำลายออกจากกระเปาะฟองแห่งลูกไก่ฉะนั้น.
จุตูปปาตญาณ
เรานั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ ผุดผ่อง ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควร แก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว อย่างนี้แล้ว ได้น้อมจิตไปเพื่อญาณเครื่องรู้จุติและอุปบัติ ของสัตว์ทั้งหลาย เรานั้นย่อมเล็งเห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ ผู้เข้าถึงตามกรรมว่า หมู่สัตว์ผู้เกิดเป็นอยู่เหล่านี้ ประกอบด้วยกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นมิจฉาทิฏฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจมิจฉาทิฏฐิ หมู่สัตว์ผู้เกิดเป็นอยู่ เหล่านั้น เบื้องหน้าแต่แตกกายตายไป เข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก หรือว่าหมู่สัตว์ผู้เกิด เป็นอยู่เหล่านี้ ประกอบด้วยกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ไม่ติเตียนพระอริยเจ้า เป็น สัมมาทิฏฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจสัมมาทิฏฐิ หมู่สัตว์ผู้เกิดเป็นอยู่เหล่านั้น เบื้องหน้าแต่แตก กายตายไป เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เราย่อมเล็งเห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อม รู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เข้าถึงตามกรรมด้วยประการดังนี้ พราหมณ์ วิชชาที่สองนี้แล เราได้บรรลุแล้ว ในมัชฌิมยามแห่งราตรี อวิชชา เรากำจัดได้แล้ว วิชชาเกิดแก่เราแล้ว ความมืดเรากำจัดได้แล้ว แสงสว่างเกิดแก่เราแล้ว เหมือนที่เกิดแก่บุคคลผู้ไม่ประมาท มีความเพียรเผากิเลส ส่งจิตไป แล้วอยู่ฉะนั้น ความชำแรกออกครั้งที่สองของเรานี้แล ได้เป็นเหมือนการทำลายออกจากกระเปาะ ฟองแห่งลูกไก่ ฉะนั้น.
อาสวักขยญาณ
เรานั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควร แก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว อย่างนี้แล้ว ได้น้อมจิตไปเพื่ออาสวักขยญาณ เรานั้นได้รู้ชัด ตามเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ ได้รู้ชัดตามเป็นจริงว่า นี้เหตุให้เกิดทุกข์ ได้รู้ชัดตามเป็นจริงว่า นี้ความ ดับทุกข์ ได้รู้ชัดตามเป็นจริงว่า นี้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ได้รู้ชัดตามเป็นจริงว่า เหล่านี้ อาสวะ ได้รู้ชัดตามเป็นจริงว่า นี้เหตุให้เกิดอาสวะ ได้รู้ชัดตามเป็นจริงว่า นี้ความดับอาสวะ ได้รู้ ชัดตามเป็นจริงว่า นี้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับอาสวะ เมื่อเรานั้นรู้อยู่อย่างนี้ เห็นอยู่อย่างนี้ จิตได้ หลุดพ้นแล้วแม้จากกามาสวะ ได้หลุดพ้นแล้วแม้จากภวาสวะ ได้หลุดพ้นแล้วแม้จากอวิชชาสวะ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ได้มีญาณหยั่งรู้ว่าหลุดพ้นแล้ว ได้รู้ด้วยปัญญาอันยิ่งว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นอีกเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี พราหมณ์ วิชชาที่สามนี้แล เราได้บรรลุแล้วในปัจฉิมยามแห่งราตรี อวิชชา เรากำจัดได้แล้ว วิชชาเกิด แก่เราแล้ว ความมืดเรากำจัดได้แล้ว แสงสว่างเกิดแก่เราแล้ว เหมือนที่เกิดแก่บุคคลผู้ไม่ประมาท มีความเพียรเผากิเลสส่งจิตไปแล้วอยู่ ฉะนั้น ความชำแรกออกครั้งที่สามของเรานี้แล ได้เป็น เหมือนการทำลายออกจากกระเปาะฟองแห่งลูกไก่ ฉะนั้น.
เวรัญชพราหมณ์แสดงตนเป็นอุบาสก
[๔] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว เวรัญชพราหมณ์ได้ทูลคำนี้แด่พระผู้มีพระภาค ว่า ท่านพระโคดมเป็นผู้เจริญที่สุด ท่านพระโคดมเป็นผู้ประเสริฐที่สุด ข้าแต่ท่านพระโคดม ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ภาษิตของพระองค์ไพเราะนัก พระองค์ทรงประกาศธรรมโดย อเนกปริยายอย่างนี้ เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือส่องประทีปในที่มืดด้วยตั้งใจว่า คนมีจักษุจักเห็นรูปดังนี้ ข้าพเจ้านี้ขอถึงท่านพระโคดม พระธรรม และพระสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ขอพระองค์จงทรงจำข้าพเจ้าว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะ ตลอดชีวิต จำเดิมแต่วันนี้เป็นต้นไป และขอพระองค์พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์จงทรงรับอาราธนาอยู่ จำพรรษา ที่เมืองเวรัญชาของข้าพเจ้าเถิด. พระผู้มีพระภาคทรงรับอาราธนาด้วยพระอาการดุษณี ครั้นเวรัญชพราหมณ์ทราบการรับ อาราธนาของพระผู้มีพระภาคแล้ว ได้ลุกจากที่นั่งถวายบังคมพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณ หลีกไป.
เมืองเวรัญชาเกิดทุพภิกขภัย
[๕] ก็โดยสมัยนั้นแล เมืองเวรัญชา มีภิกษาหารน้อย ประชาชนหาเลี้ยงชีพฝืดเคือง มีกระดูกคนตายขาวเกลื่อน ต้องมีสลากซื้ออาหาร ภิกษุสงฆ์จะยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยการ ถือบาตรแสวงหา ก็ทำไม่ได้ง่าย ครั้งนั้นพวกพ่อค้าม้าชาวอุตราปถะ มีม้าประมาณ ๕๐๐ ตัว ได้ เข้าพักแรมตลอดฤดูฝนในเมืองเวรัญชา พวกเขาได้ตกแต่งข้าวแดงสำหรับภิกษุรูปละแล่งไว้ที่ คอกม้า เวลาเช้าภิกษุทั้งหลายครองอันตรวาสกแล้ว ถือบาตรจีวรเข้าไปบิณฑบาตในเมืองเวรัญชา เมื่อไม่ได้บิณฑบาต จึงเที่ยวไปบิณฑบาตที่คอกม้า รับข้าวแดงรูปละแล่ง นำไปสู่อารามแล้วลงครก โขลกฉัน ส่วนท่านพระอานนท์บดข้าวแดงแล่งหนึ่งที่ศิลา แล้วน้อมเข้าไปถวายแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคเสวยพระกระยาหารที่บดถวายนั้นอยู่ ได้ทรงสดับเสียงครกแล้ว.
พระพุทธประเพณี
พระตถาคตทั้งหลายทรงทราบอยู่ ย่อมตรัสถามก็มี ทรงทราบอยู่ย่อมไม่ตรัสถามก็มี ทรงทราบกาลแล้วตรัสถาม ทรงทราบกาลแล้วไม่ตรัสถาม พระตถาคตทั้งหลายย่อมตรัสถามสิ่ง ที่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่ตรัสถามสิ่งที่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ สิ่งที่ไม่ประกอบด้วย ประโยชน์ พระองค์ทรงกำจัดด้วยข้อปฏิบัติ พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมทรงสอบถาม ภิกษุทั้งหลายด้วยอาการสองอย่าง คือ จักทรงแสดงธรรมอย่างหนึ่ง จักทรงบัญญัติสิกขาบทแก่ พระสาวกทั้งหลายอย่างหนึ่ง. ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสถามท่านพระอานนท์ว่า อานนท์ นั่นเสียงครกหรือหนอ จึงท่านพระอานนท์กราบทูลเนื้อความนั้นให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาคตรัสสรรเสริญว่า ดีละ ดีละ อานนท์ พวกเธอเป็นสัตบุรุษ ชนะวิเศษแล้ว พวกเพื่อนพรหมจารีชั้นหลังจักดูหมิ่นข้าว สาลีและข้าวสุกอันระคนด้วยเนื้อ.
พระมหาโมคคัลลานะเปล่งสีหนาท
[๖] ครั้งนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ได้กราบทูลคำนี้แด่พระผู้มีพระภาคว่า พระพุทธเจ้าข้า บัดนี้เมืองเวรัญชา มีภิกษาหารน้อย ประชาชนหาเลี้ยงชีพฝืดเคือง มีกระดูกคนตายขาวเกลื่อน ต้องมีสลากซื้อ อาหาร ภิกษุสงฆ์จะยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยการถือบาตรแสวงหา ก็ทำไม่ได้ง่าย พระพุทธเจ้าข้า พื้นเบื้องล่างแห่งแผ่นดินผืนใหญ่นี้ สมบูรณ์ มีรสอันโอชา เหมือนน้ำผึ้งหวี่ที่ไม่มีตัวอ่อนฉะนั้น ขอประทานพระวโรกาส ข้าพระพุทธเจ้าจะพึงพลิกแผ่นดิน ภิกษุทั้งหลายจักได้ฉันง้วนดิน พระพุทธเจ้าข้า. พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า ดูกรโมคคัลลานะ ก็สัตว์ผู้อาศัยแผ่นดินเล่า เธอจะทำ อย่างไรแก่สัตว์เหล่านั้น? ม. ข้าพระพุทธเจ้าจักนิรมิตฝ่ามือข้างหนึ่งให้เป็นดุจแผ่นดินใหญ่ ยังสัตว์ผู้อาศัยแผ่นดิน เหล่านั้นให้ไปอยู่ในฝ่ามือนั้น จักพลิกแผ่นดินด้วยมืออีกข้างหนึ่ง พระพุทธเจ้าข้า. ภ. อย่าเลย โมคคัลลานะ การพลิกแผ่นดิน เธออย่าพอใจเลย สัตว์ทั้งหลายจะพึง ได้รับผลตรงกันข้าม. ม. ขอประทานพระวโรกาส ขอภิกษุสงฆ์ทั้งหมดพึงไปบิณฑบาตในอุตรกุรุทวีป พระ- *พุทธเจ้าข้า. ภ. ก็ภิกษุผู้ไม่มีฤทธิ์เล่า เธอจักทำอย่างไรแก่ภิกษุเหล่านั้น? ม. ข้าพระพุทธเจ้าจักทำให้ภิกษุทั้งหมดไปได้ พระพุทธเจ้าข้า. ภ. อย่าเลย โมคคัลลานะ การที่ภิกษุสงฆ์ทั้งหมดไปบิณฑบาตถึงอุตรกุรุทวีป เธออย่า พอใจเลย.
เหตุให้พระศาสนาดำรงอยู่ไม่นานและนาน
[๗] ครั้งนั้น ท่านพระสารีบุตรไปในที่สงัดหลีกเร้นอยู่ ได้มีความปริวิตกแห่งจิตเกิด ขึ้นอย่างนี้ว่า พระศาสนาของพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทั้งหลาย พระองค์ไหนไม่ดำรงอยู่นาน ของ พระองค์ไหนดำรงอยู่นาน ดังนี้ ครั้นเวลาสายัณห์ท่านออกจากที่เร้นแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระ- *ภาค ถวายบังคม นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้วกราบทูลว่า พระพุทธเจ้าข้า ข้าพระพุทธเจ้าไปใน ที่สงัดหลีกเร้นอยู่ ณ ตำบลนี้ ได้มีความปริวิตกแห่งจิตเกิดขึ้นอย่างนี้ว่า พระศาสนาของพระผู้มี พระภาคพุทธเจ้าทั้งหลาย พระองค์ไหนไม่ดำรงอยู่นาน ของพระองค์ไหนดำรงอยู่นาน. พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ดูกรสารีบุตร พระศาสนาของพระผู้มีพระภาคพระนามวิปัสสี พระนามสิขี และพระนามเวสสภู ไม่ดำรงอยู่นาน ของพระผู้มีพระภาคพระนามกกุสันธะ พระ นามโกนาคมนะ และพระนามกัสสปะดำรงอยู่นาน. ส. อะไรเป็นเหตุ อะไรเป็นปัจจัย ให้พระศาสนาของพระผู้มีพระภาคพระนามวิปัสสี พระนามสิขี และพระนามเวสสภู ไม่ดำรงอยู่นาน พระพุทธเจ้าข้า? ภ. ดูกรสารีบุตร พระผู้มีพระภาคพระนามวิปัสสี พระนามสิขี และพระนามเวสสภู ทรงท้อพระหฤทัยเพื่อจะทรงแสดงธรรมโดยพิสดารแก่สาวกทั้งหลาย อนึ่ง สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาดก อัพภูตธรรม เวทัลละ ของพระผู้มีพระภาคทั้ง สามพระองค์นั้นมีน้อย สิกขาบทก็มิได้ทรงบัญญัติ ปาติโมกข์ก็มิได้ทรงแสดงแก่สาวก เพราะ อันตรธานแห่งพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าเหล่านั้น เพราะอันตรธานแห่งสาวกผู้ตรัสรู้ตามพระพุทธเจ้า เหล่านั้น สาวกชั้นหลังที่ต่างชื่อกัน ต่างโคตรกัน ต่างชาติกัน ออกบวชจากตระกูลต่างกัน จึง ยังพระศาสนานั้นให้อันตรธานโดยฉับพลัน ดูกรสารีบุตร ดอกไม้ต่างพรรณที่เขากองไว้บนพื้น กระดาน ยังไม่ได้ร้อยด้วยด้าย ลมย่อมกระจาย ขจัด กำจัด ซึ่งดอกไม้เหล่านั้นได้ ข้อนั้น เพราะเหตุอะไร เพราะเขาไม่ได้ร้อยด้วยด้าย ฉันใด เพราะอันตรธานแห่งพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า เหล่านั้น เพราะอันตรธานแห่งสาวกผู้ตรัสรู้ตามพระพุทธเจ้าเหล่านั้น สาวกชั้นหลังที่ต่างชื่อกัน ต่างโคตรกัน ต่างชาติกัน ออกบวชจากตระกูลต่างกัน จึงยังพระศาสนานั้นให้อันตรธานโดยฉับ พลัน ฉันนั้นเหมือนกัน เพราะพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าเหล่านั้น ทรงท้อพระหฤทัยเพื่อจะทรง กำหนดจิตของสาวกด้วยพระหฤทัย แล้วทรงสั่งสอนสาวก. ดูกรสารีบุตร เรื่องเคยมีมาแล้ว พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนาม เวสสภู ทรงกำหนดจิตภิกษุสงฆ์ด้วยพระหฤทัยแล้วทรงสั่งสอน พร่ำสอน ภิกษุสงฆ์ประมาณ พันรูป ในไพรสนฑ์อันน่าพึงกลัวแห่งหนึ่งว่า พวกเธอจงตรึกอย่างนี้ อย่าได้ตรึกอย่างนั้น จง ทำในใจอย่างนี้ อย่าได้ทำในใจอย่างนั้น จงละส่วนนี้ จงเข้าถึงส่วนนี้อยู่เถิด ดังนี้ ลำดับนั้นแล จิตของภิกษุประมาณพันรูปนั้น อันพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามเวสสภูทรง สั่งสอนอยู่อย่างนั้น ทรงพร่ำสอนอยู่อย่างนั้น ได้หลุดพ้นแล้วจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่น ในเพราะความที่ไพรสณฑ์อันน่าพึงกลัวนั้นซิ เป็นถิ่นที่น่าสยดสยอง จึงมีคำนี้ว่า ผู้ใดผู้หนึ่งซึ่ง ยังไม่ปราศจากราคะเข้าไปสู่ไพรสณฑ์นั้น โดยมากโลมชาติย่อมชูชัน. ดูกรสารีบุตร อันนี้แลเป็นเหตุ อันนี้แลเป็นปัจจัย ให้พระศาสนาของพระผู้มีพระภาค พระนามวิปัสสี พระนามสิขี และพระนามเวสสภูไม่ดำรงอยู่นาน. ส. อะไรเป็นเหตุ อะไรเป็นปัจจัย ให้พระศาสนาของพระผู้มีพระภาคพระนามกกุสันธะ พระนามโกนาคมนะ และพระนามกัสสปะ ดำรงอยู่นาน พระพุทธเจ้าข้า? ภ. ดูกรสารีบุตร พระผู้มีพระภาคพระนามกกุสันธะ พระนามโกนาคมนะ และพระนาม กัสสปะ มิได้ทรงท้อพระหฤทัยเพื่อจะทรงแสดงธรรมโดยพิสดารแก่สาวกทั้งหลาย อนึ่ง สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาดก อัพภูตธรรม เวทัลละ ของพระผู้มี พระภาคทั้งสามพระองค์นั้นมีมาก สิกขาบทก็ทรงบัญญัติ ปาติโมกข์ก็ทรงแสดงแก่สาวก เพราะ อันตรธานแห่งพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าเหล่านั้น เพราะอันตรธานแห่งสาวกผู้ตรัสรู้ตามพระพุทธเจ้า เหล่านั้น สาวกชั้นหลังที่ต่างชื่อกัน ต่างโคตรกัน ต่างชาติกัน ออกบวชจากตระกูลต่างกัน จึง ดำรงพระศาสนานั้นไว้ได้ตลอดระยะกาลยืนนาน ดูกรสารีบุตร ดอกไม้ต่างพรรณที่เขากองไว้บน พื้นกระดาน ร้อยดีแล้วด้วยด้าย ลมย่อมกระจายไม่ได้ ขจัดไม่ได้ กำจัดไม่ได้ซึ่งดอกไม้เหล่านั้น ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเขาร้อยดีแล้วด้วยด้าย ฉันใด เพราะอันตรธานแห่งพระผู้มีพระภาค พุทธเจ้าเหล่านั้น เพราะอันตรธานแห่งสาวกผู้ตรัสรู้ตามพระพุทธเจ้าเหล่านั้น สาวกชั้นหลังที่ ต่างชื่อกัน ต่างโคตรกัน ต่างชาติกัน ออกบวชจากตระกูลต่างกัน จึงดำรงพระศาสนานั้นไว้ได้ ตลอดระยะกาลยืนนาน ฉันนั้น เหมือนกัน. ดูกรสารีบุตร อันนี้แลเป็นเหตุ อันนี้แลเป็นปัจจัย ให้พระศาสนาของพระผู้มีพระภาค พระนามกกุสันธะ พระนามโกนาคมนะ และพระนามกัสสปะ ดำรงอยู่นาน.
ปรารภเหตุให้ทรงบัญญัติสิกขาบท
[๘] ลำดับนั้นแล ท่านพระสารีบุตรลุกจากอาสนะ ทำผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง ประณมอัญชลีไปทางพระผู้มีพระภาคแล้วกราบทูลว่า ถึงเวลาแล้ว พระพุทธเจ้าข้า ข้าแต่พระสุคต ถึงเวลาแล้ว ที่จะทรงบัญญัติสิกขาบท ที่จะทรงแสดงปาติโมกข์แก่สาวก อันจะเป็นเหตุให้ พระศาสนานี้ยั่งยืนดำรงอยู่ได้นาน. พระผู้มีพระภาคตรัสว่า จงรอก่อน สารีบุตร จงยับยั้งก่อนสารีบุตร ตถาคตผู้เดียวจักรู้ กาลในกรณีย์นั้น พระศาสดายังไม่บัญญัติสิกขาบท ยังไม่แสดงปาติโมกข์แก่สาวก ตลอดเวลา ที่ธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งอาสวะบางเหล่า ยังไม่ปรากฏในสงฆ์ในศาสนานี้ ต่อเมื่อใดอาสวัฏ- *ฐานิยธรรมบางเหล่า ปรากฏในสงฆ์ในศาสนานี้ เมื่อนั้นพระศาสดาจึงจะบัญญัติสิกขาบท แสดง ปาติโมกข์แก่สาวก เพื่อกำจัดอาสวัฏฐานิยธรรมเหล่านั้นแหละ อาสวัฏฐานิยธรรมบางเหล่า ยังไม่ ปรากฏในสงฆ์ในศาสนานี้ ตลอดเวลาที่สงฆ์ยังไม่ถึงความเป็นหมู่ใหญ่โดยภิกษุผู้บวชนาน ต่อ เมื่อใดสงฆ์ถึงความเป็นหมู่ใหญ่โดยภิกษุผู้บวชนานแล้ว และอาสวัฏฐานิยธรรมบางเหล่าย่อม ปรากฏในสงฆ์ในศาสนานี้ เมื่อนั้นพระศาสดาจึงจะบัญญัติสิกขาบท แสดงปาติโมกข์แก่สาวก เพื่อกำจัดอาสวัฏฐานิยธรรมเหล่านั้นแหละ อาสวัฏฐานิยธรรมบางเหล่า ยังไม่ปรากฏในสงฆ์ใน ศาสนานี้ ตลอดเวลาที่สงฆ์ยังไม่ถึงความเป็นหมู่ใหญ่โดยแพร่หลาย ต่อเมื่อใดสงฆ์ถึงความเป็น หมู่ใหญ่โดยแพร่หลายแล้ว และอาสวัฏฐานิยธรรมบางเหล่า ย่อมปรากฏในสงฆ์ในศาสนานี้ เมื่อนั้นพระศาสดาจึงจะบัญญัติสิกขาบท แสดงปาติโมกข์แก่สาวกเพื่อกำจัดอาสวัฏฐานิยธรรม เหล่านั้นแหละ อาสวัฏฐานิยธรรมบางเหล่า ยังไม่ปรากฏในสงฆ์ในศาสนานี้ ตลอดเวลาที่สงฆ์ ยังไม่ถึงความเป็นหมู่ใหญ่เลิศโดยลาภ ต่อเมื่อใดสงฆ์ถึงความเป็นหมู่ใหญ่เลิศโดยลาภแล้ว และ อาสวัฏฐานิยธรรมบางเหล่า ย่อมปรากฏในสงฆ์ในศาสนานี้ เมื่อนั้นพระศาสดาจึงจะบัญญัติ- *สิกขาบท แสดงปาติโมกข์แก่สาวก เพื่อกำจัดอาสวัฏฐานิยธรรมเหล่านั้นแหละ ดูกรสารีบุตร ก็ภิกษุสงฆ์ไม่มีเสนียด ไม่มีโทษ ปราศจากมัวหมองบริสุทธิ์ผุดผ่องตั้งอยู่ในสารคุณ เพราะบรรดา ภิกษุ ๕๐๐ รูปนี้ ภิกษุที่ทรงคุณธรรมอย่างต่ำ ก็เป็นโสดาบัน มีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็น ผู้เที่ยง เป็นผู้ที่จะตรัสรู้ในเบื้องหน้า.
เสด็จนิเวศน์เวรัญชพราหมณ์
[๙] ครั้นปวารณาพรรษาแล้ว พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกท่านพระอานนท์มารับสั่งว่า ดูกรอานนท์ พระตถาคตทั้งหลายยังมิได้บอกลาผู้ที่นิมนต์ให้อยู่จำพรรษาแล้ว จะไม่หลีกไปสู่ที่ จาริกในชนบท ข้อนี้เป็นประเพณีของพระตถาคตทั้งหลาย มาไปกันเถิดอานนท์ เราจะบอกลา เวรัญชพราหมณ์. ท่านพระอานนท์ทูลสนองพระพุทธดำรัสว่า เป็นดังรับสั่ง พระพุทธเจ้าข้า. ขณะนั้น พระผู้มีพระภาคทรงอันตรวาสกแล้ว ถือบาตรจีวร มีท่านพระอานนท์เป็น ปัจฉาสมณะ เสด็จพระพุทธดำเนินไปสู่นิเวศน์ของเวรัญชพราหมณ์ ครั้นถึงแล้วประทับนั่งเหนือ พระพุทธอาสน์ที่เขาจัดถวาย ทันใดนั้น เวรัญชพราหมณ์ดำเนินเข้าไปสู่ที่ประทับ ครั้นแล้วถวาย บังคม นั่งเฝ้าอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พระองค์รับสั่งว่า ดูกรพราหมณ์ เราเป็นผู้อันท่านนิมนต์ อยู่จำพรรษาแล้ว เราขอบอกลาท่าน เราปรารถนาจะหลีกไปสู่ที่จาริกในชนบท. เวรัญชพราหมณ์กราบทูลว่า เป็นความจริง ท่านพระโคดม ข้าพเจ้านิมนต์พระองค์อยู่ จำพรรษา ก็แต่ว่าไทยธรรมอันใดที่จะพึงถวาย ไทยธรรมอันนั้นข้าพเจ้ายังมิได้ถวาย และไทย- *ธรรมนั้นมิใช่ว่าจะไม่มี ทั้งประสงค์จะไม่ถวายก็หาไม่ ภายในไตรมาสนี้ พระองค์จะพึงได้ไทย- *ธรรมนั้นจากไหน เพราะฆราวาสมีกิจมาก มีกรณียะมาก ขอท่านพระโคดมพร้อมด้วยพระสงฆ์ จงทรงพระกรุณาโปรดรับภัตตาหารของข้าพเจ้า เพื่อเจริญบุญกุศลและปีติปราโมทย์ในวันพรุ่งนี้แก่ ข้าพเจ้าด้วยเถิด. พระผู้มีพระภาคทรงรับอัชเฌสนาโดยดุษณีภาพ และแล้วทรงชี้แจงให้เวรัญชพราหมณ์ เห็นแจ้ง สมาทาน อาจหาญ ร่าเริงด้วยธรรมีกถา แล้วทรงลุกจากที่ประทับเสด็จกลับ. หลังจากนั้น เวรัญชพราหมณ์สั่งให้ตกแต่งของเคี้ยวของฉันอันประณีตในนิเวศน์ของตน โดยผ่านราตรีนั้นแล้ว ให้เจ้าพนักงานไปกราบทูลภัตกาลแด่พระผู้มีพระภาคว่า ถึงเวลาแล้ว ท่าน พระโคดม ภัตตาหารเสร็จแล้ว. ขณะนั้นเป็นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงอันตรวาสกแล้วถือบาตรจีวรเสด็จพระพุทธ- *ดำเนินไปสู่นิเวศน์ของเวรัญชพราหมณ์ ครั้นถึงแล้ว ประทับนั่งเหนือพระพุทธอาสน์ที่เขาจัดถวาย พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ จึงเวรัญชพราหมณ์อังคาสภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ด้วยขาทนีย- *โภชนียาหารอันประณีต ด้วยมือของตนจนให้ห้ามภัตรแล้ว ได้ถวายไตรจีวรแด่พระผู้มีพระภาค ผู้เสวยเสร็จทรงนำพระหัตถ์ออกจากบาตรแล้วให้ทรงครอง และถวายผ้าคู่ให้ภิกษุครอง รูปละ สำรับ จึงพระองค์ทรงชี้แจงให้เวรัญชพราหมณ์เห็นแจ้ง สมาทาน อาจหาญ ร่าเริงด้วยธรรมีกถา แล้วทรงลุกจากที่ประทับเสด็จกลับ ครั้นพระองค์ประทับอยู่ที่เมืองเวรัญชาตามพระพุทธาภิรมย์แล้ว เสด็จพระพุทธดำเนินไปยังเมืองท่าปยาคะ ไม่ทรงแวะเมืองโสเรยยะ เมืองสังกัสสะ เมือง กัณณกุชชะ ทรงข้ามแม่น้ำคงคาที่เมืองท่าปยาคะ เสด็จพระพุทธดำเนินถึงพระนครพาราณสี ครั้น พระองค์ประทับอยู่ที่พระนครพาราณสีตามพระพุทธาภิรมย์แล้ว เสด็จจาริกไปโดยมรรคาอันจะไป สู่พระนครเวสาลี เมื่อเสด็จจาริกไปโดยลำดับ ถึงพระนครเวสาลีนั้นแล้ว ทราบว่าพระองค์ประทับ อยู่ที่กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน เขตพระนครเวสาลีนั้น.
เวรัญชภาณวาร จบ.
-----------------------------------------------------
Credit ขอขอบคุณที่มา
Source : www.84000.org

พระไตรปิฏก ความหมายและองค์ประกอบทั้งหมดของพระไตรปิฏก(คัมภีร์ที่บรรจุพุทธพจน์)

ความหมายของพระไตรปิฏก

ไตรปิฎก "ปิฎกสาม"; ปิฎก แปลตามศัพท์อย่างพื้นๆ ว่า
กระจาดหรือตะกร้า อันเป็นภาชนะสำหรับ ใส่รวมของต่างๆ เข้าไว้ นำมาใช้ในความหมายว่า
เป็นที่รวบรวมคำสอนในพระพุทธศาสนาที่จัดเป็น
หมวดหมู่แล้ว โดยนัยนี้ ไตรปิฎกจึงแปลว่า
คัมภีร์ที่บรรจุพุทธพจน์
( และเรื่องราวชั้นเดิมของพระพุทธศาสนา ) ๓ ชุด
หรือ ประมวลแห่งคัมภีร์ที่รวบรวมพระธรรมวินัย ๓ หมวด
กล่าวคือ
วินัยปิฎก สุตตันตปิฎก และอภิธรรมปิฎก
; พระไตร ปิฎก จัดแบ่งหมวดหมู่โดยย่อดังนี้
๑. พระวินัยปิฎก ประมวลพุทธพจน์หมวดพระวินัย
คือพุทธบัญญัติเกี่ยวกับความประพฤติ ความเป็นอยู่ ขนบ ธรรมเนียมและการดำเนินกิจการต่างๆ
ของภิกษุสงฆ์และภิกษุณีสงฆ์แบ่งเป็น ๕ คัมภีร์
(เรียกย่อหรือหัวใจว่า อา ปา ม จุ ป) คือ ๑. อาทิกัมมิกะ หรือ ปาราชิก ว่าด้วยสิกขาบทที่เกี่ยวกับ
อาบัติหนักของฝ่ายภิกษุสงฆ์ ตั้งแต่ปาราชิกถึงอนิยต
๒. ปาจิตตีย์ ว่าด้วยสิกขาบทที่เกี่ยวกับอาบัติเบา
ตั้งแต่นิสสัคคิยปาจิตตีย์ถึงเสขิยะ
รวมตลอดทั้งภิกขุนีวิภังค์ทั้งหมด ๓. มหาวรรค ว่าด้วยสิกขาบทนอกปาฏิโมกข์ตอนต้น ๑๐
ขันธกะ หรือ ๑๐ ตอน ๔. จุลวรรค ว่าด้วยสิกขาบทนอกปาฏิโมกข์ตอนปลาย
๑๒ ขันธกะ ๕. ปริวาร คัมภีร์ประกอบหรือคู่มือ
บรรจุคำถามคำตอบสำหรับซ้อมความรู้พระวินัย
พระวินัยปิฎกนี้ แบ่งอีกแบบหนึ่งเป็น
๕ คัมภีร์เหมือนกัน (จัด ๒ ข้อในแบบต้นนั้นใหม่)คือ ๑. มหาวิภังค์ หรือ ภิกขุวิภังค์ ว่าด้วยสิกขาบทในปาฏิโมกข์
(ศีล ๒๒๗ ข้อ) ฝ่ายภิกษุสงฆ์ ๒. ภิกขุนีวิภังค์ ว่าด้วยสิกขาบทในปาฏิโมกข์
(ศีล ๓๑๑ ข้อ) ฝ่ายภิกษุณีสงฆ์ ๓. มหาวรรค ๔. จุลวรรค ๕. ปริวาร

บางทีท่านจัดให้ย่นย่อเข้าอีก แบ่งพระวินัยปิฎกเป็น
๓ หมวด คือ ๑. วิภังค์ ว่าด้วยสิกขาบทในปาฏิโมกข์ทั้งฝ่ายภิกษุสงฆ์และ
ฝ่ายภิกษุณีสงฆ์ (คือรวมข้อ ๑ และ ๒ ข้างต้นทั้งสองแบบ
เข้าด้วยกัน) ๒. ขันธกะ ว่าด้วยสิกขาบทนอกปาฏิโมกข์ทั้ง
๒๒ ขันธกะหรือ ๒๒ บทตอน
(คือรวมข้อ ๓ และ ๔ เข้าด้วยกัน) ๓. ปริวาร ว่า คัมภีร์ประกอบ (คือข้อ ๕ ข้างบน)
๒. พระสุตตันตปิฎก
ประมวลพุทธพจน์หมวดพระสูตร คือ พระธรรมเทศนา
คำบรรยายธรรมต่างๆ ที่ตรัสยักเยื้องให้เหมาะกับบุคคล
และโอกาสตลอดจนบทประพันธ์ เรื่องเล่า
และเรื่องราวทั้งหลายที่เป็นชั้นเดิมในพระพุทธศาสนา แบ่ง
เป็น ๕ นิกาย (เรียกย่อหรือหัวใจว่า ที ม สํ อํ ขุ) คือ
๑. ทีฆนิกาย ชุมนุมพระสูตรที่มีขนาดยาว ๓๔ สูตร ๒. มัชฌิมนิกาย ชุมนุมพระสูตรที่มีความยาวปานกลาง
๑๕๒ สูตร ๓. สังยุตตนิกาย ชุมนุมพระสูตรที่จัดรวมเข้าเป็นกลุ่มๆ
เรียกว่าสังยุตต์หนึ่งๆ ตามเรื่องที่เนื่องกัน หรือตามหัวข้อ หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องรวม ๕๖ สังยุตต์ มี ๗,๗๖๒ สูตร ๔. อังคุตตรนิกาย ชุมนุมพระสูตรที่จัดรวมเข้าเป็นหมวดๆ
เรียกว่านิบาตหนึ่งๆ ตามลำดับจำนวนหัวข้อธรรม รวม ๑๑ นิบาต หรือ ๑๑ หมวดธรรม มี ๙,๕๕๗ สูตร ๕. ขุททกนิกาย ชุมนุมพระสูตร คาถาภาษิต คำอธิบาย
และเรื่องราวเบ็ดเตล็ดที่จัดเข้าในสี่นิกายแรกไม่ได้มี
๑๕ คัมภีร์
๓. พระอภิธรรมปิฎก ประมวลพระพุทธพจน์หมวด
พระอภิธรรม คือ หลักธรรมและคำอธิบายที่เป็นหลักวิชา
ล้วนๆ ไม่เกี่ยวด้วยบุคคลหรือเหตุการณ์ แบ่งเป็น ๗ คัมภีร์
(เรียกย่อหรือหัวใจว่า สํ วิ ธา ปุ ก ย ป) คือ ๑. สังคณี หรือ ธัมมสังคณี รวมข้อธรรมเข้าเป็นหมวดหมู่
แล้วอธิบายทีละประเภท ๆ ๒. วิภังค์ ยกหมวดธรรมสำคัญ ๆแล้วตั้งเป็นหัวเรื่อง
แล้วแยกแยะออกอธิบายชี้แจงวินิจฉัยโดยละเอียด
๓. ธาตุกถา สงเคราะห์ข้อธรรมต่าง ๆ เข้าในขันธ์
อายตนะ ธาตุ ๔. ปุคคลบัญญัติ บัญญัติความหมายของบุคคล
ประเภทต่างๆ ตามคุณธรรมที่มีอยู่ในบุคคลนั้นๆ ๕. กถาวัตถุ แถลงและวินิจฉัยทัศนะของนิกายต่างๆ
สมัยสังคายนาครั้งที่ ๓ ๖. ยมก ยกหัวข้อธรรมขึ้นวินิจฉัยด้วยวิธีถามตอบ
โดยตั้งคำถามย้อนกันเป็นคู่ๆ ๗. ปัฏฐาน หรือ มหาปกรณ์ อธิบายปัจจัย๒๔
แสดงความสัมพันธ์เนื่องอาศัยกันแห่งธรรมทั้งหลาย
โดยพิสดาร
พระไตรปิฎกที่พิมพ์ด้วยอักษรไทยท่านจัดแบ่งเป็น
๔๕ เล่ม แสดงพอให้เห็นรูปเค้าดังนี้ ก. พระวินัยปิฎก ๘ เล่ม เล่ม ๑ มหาวิภังค์ ภาค ๑ ว่าด้วยปาราชิก สังฆาทิเสส
และอนิยตสิกขาบท(สิกขาบทในปาฏิโมกข์ฝ่ายภิกษุสงฆ์
๑๙ ข้อแรก)
เล่ม ๒ มหาวิภังค์ ภาค ๒
ว่าด้วยสิกขาบทเกี่ยวกับอาบัติเบาของภิกษุ
(เป็นอันครบสิกขาบท ๒๒๗ หรือ ศีล ๒๒๗) เล่ม ๓ ภิกขุนีวิภังค์ ว่าด้วยสิกขาบท ๓๑
๑ ของภิกษุณี เล่ม ๔ มหาวรรค ภาค ๑ มี ๔ ขันธกะ
ว่าด้วยการอุปสมบท
(เริ่มเรื่องตั้งแต่ตรัสรู้และประดิษฐานพระศาสนา) อุโบสถ จำพรรษา และปวารณา เล่ม ๕ มหาวรรค ภาค ๒ มี ๖ ขันธกะ
ว่าด้วยเรื่องเครื่องหนังเภสัช กฐิน จีวร นิคหกรรม
และการทะเลาะวิวาท และสามัคคี เล่ม ๖ จุลวรรค ภาค ๑ มี ๔ ขันธกะ
ว่าด้วยเรื่องนิคหกรรม วุฏฐานวิธีและการระงับอธิกรณ์ เล่ม ๗ จุลวรรค ภาค ๒ มี ๘ ขันธกะ
ว่าด้วยข้อบัญญัติปลีกย่อยเรื่องเสนาสนะ สังฆเภท
วัตรต่างๆ การงด สวดปาฏิโมกข์ เรื่องภิกษุณี เรื่องสังคายนาครั้งที่ ๑
และครั้งที่ ๒ เล่ม ๘ ปริวาร คู่มือถามตอบซ้อมความรู้พระวินัย
ข. พระสุตตันปิฎก ๒๕ เล่ม ๑. ทีฆนิกาย ๓ เล่ม เล่ม ๙ สีลขันธวรรค มีพระสูตรขนาดยาว ๑๓ สูตร
หลายสูตรกล่าวถึงจุลศีล มัชฌิมศีล มหาศีล เล่ม ๑๐ มหาวรรค มีพระสูตรยาว ๑๐ สูตร
ส่วนมากชื่อเริ่มด้วย "มหา" เช่น มหาปรินิพพานสูตร
มหาสติ ปัฏฐานสูตร เป็นต้น เล่ม ๑๑ ปาฏิกวรรค มีพระสูตรยาว ๑๑ สูตร
เริ่มด้วยปาฏิกสูตร หลายสูตรมีชื่อเสียงเช่น จักกวัตติสูตร
อัคคัญญ สูตร สิงคาลกสูตร และสังคีติสูตร
๒. มัชฌิมนิกาย ๓ เล่ม เล่ม ๑๒ มูลปัณณาสก์ บั้นต้น มีพระสูตรขนาดกลาง
๕๐ สูตร เล่ม ๑๓ มัชฌิมปัณณาสก์ บั้นกลางมีพระสูตรขนาดกลาง ๕๐ สูตร เล่ม ๑๔ อุปริปัณณาสก์ บั้นปลายมีพระสูตรขนาดกลาง
๕๒ สูตร
๓. สังยุตตนิกาย ๕ เล่ม เล่ม ๑๕ สคาถวรรค รวมคาถาภาษิตที่ตรัสและกล่าวตอบ
บุคคลต่างๆ เช่นเทวดามาร ภิกษุณี พราหมณ์ พระเจ้า
โกศล เป็นต้น จัดเป็นกลุ่มเรื่องตามบุคคลและสถานที่
มี ๑๑ สังยุตต์ เล่ม ๑๖ นิทานวรรค ครึ่งเล่มว่าด้วยเหตุปัจจัย คือหลัก
ฏิจจสมุปบาท นอกนั้น มีเรื่องธาตุ การบรรลุธรรม
สังสารวัฏ ลาภสักการะ เป็นต้น จัด เป็น ๑๐ สังยุตต์
เล่ม ๑๗ ขันธวารวรรค ว่าด้วยเรื่องขันธ์ ๕ ใ
นแง่มุมต่างๆ มีเรื่องเบ็ดเตล็ดรวมทั้งเรื่อง
สมาธิและทิฏฐิต่างๆ ปะปนอยู่บ้าง จัดเป็น ๑๓ สังยุตต์
เล่ม ๑๘ สฬายตนวรรค เกือบครึ่งเล่มว่าด้วยอายตนะ
๖ ตามแนวไตรลักษณ์ เรื่องอื่นมีเบญจศีล ข้อปฏิบัติให้ถึง อสังขตะ อันตคาหิกทิฏฐิ เป็นต้น จัดเป็น ๑๐ สังยุตต์ เล่ม ๑๙ มหาวรรค ว่าด้วยโพธิปักขิยธรรม ๓๗
แต่เรียงลำดับเป็นมรรค โพชฌงค์ สติปัฏฐาน อินทรีย์
สัมมัปปธาน พละ อิทธิบาท รวมทั้งเรื่องที่เกี่ยวข้อง เช่น นิวรณ์
สังโยชน์ อริยสัจจ์ ฌาน ตลอดถึงองค์คุณ
ของพระโสดาบันและอา นิสงส์ของการบรรลุโสดาปัตติผล จัดเป็น ๑๒ สังยุตต์
(พึงสังเกตว่าคัมภีร์นี้เริ่มต้นด้วยการย้ำความสำคัญ
ของความมีกัลยาณมิตร เป็นจุดเริ่มต้นเข้าสู่มรรค)
๔. อังคุตตรนิกาย ๕ เล่ม เล่ม ๒๐ เอก-ทุก-ติกนิบาต ว่าด้วยธรรม หมวด ๑
หมวด ๒ หมวด ๓ รวมทั้งเรื่องเอตทัคคะ เล่ม ๒๑ จตุกกนิบาต ว่าด้วยธรรมหมวด ๔ เล่ม ๒๒ ปัญจก-ฉักกนิบาต ว่าด้วยธรรมหมวด ๕-๖ เล่ม ๒๓ สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต ว่าด้วยธรรมหมวด
๗-๘-๙ เล่ม ๒๔ ทสก-เอกาทสกนิบาต ว่าด้วยธรรมหมวด
๑๐-๑๑
ใอังงคุตตรนิกายมีข้อธรรมหลากหลายลักษณะ
ตั้งแต่ทิฏฐธัมมิกัตถะถึงปรมัตถะ ทั้งสำหรับบรรพชิต และ สำหรับคฤหัสถ์ กระจายกันอยู่โดยเรียงตามจำนวน
๕. ขุททกนิกาย ๙ เล่ม เล่ม ๒๕ รวมคัมภีร์ย่อย ๕ คือ ขุททกปาฐะ
(บทสวดย่อยๆ โดยเฉพาะมงคลสูตร รตนสูตร
กรณียเมตตสูตร) ธรรมบท(เฉพาะตัวคาถาทั้ง ๔๒๓)
อุทาน(พุทธอุทาน ๘๐)
อิติวุตตกะ(พระสูตรที่ไม่ขึ้นต้นด้วย "เอวมฺเม สุตํ" แต่เชื่อมความเข้าสู่คาถาด้วยคำว่า "อิติ วุจฺจติ"
รวม ๑๑๒ สูตร) และสุตตนิบาต
(ชุมนุมพระสูตรชุดพิเศษ ซึ่ง เป็นคาถาล้วนหรือมีความนำเป็นร้อยแก้ว
รวม ๗๑ สูตร) เล่ม ๒๖ มีคัมภีร์ย่อยที่เป็นคาถาล้วน ๔ คือ
วิมานวัตถุ(เรื่องผู้เกิดในสวรรค์อยู่วิมาน
เล่าการทำความดีของตนใน อดีต ที่ทำให้ได้ไปเกิดเช่นนั้น ๘๕ เรื่อง)
เปตวัตถุ(เรื่องเปรตเล่ากรรมชั่วในอดีตของตน
๕๑ เรื่อง) เถรคาถา(คาถา ของพระอรหันตเถระ ๒๖๔ รูปที่กล่าวแสดง
ความรู้สึกสงบประณีตในการบรรลุธรรมเป็นต้น)
เถรีคาถา(คาถาของ พระอรหันตเถรี ๗๓ รูป ที่กล่าวแสดงความรู้สึกเช่นนั้น) เล่ม ๒๗ ชาดก ภาค ๑
รวมคาถาแสดงคติธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสเมื่อ
ครั้งเป็นพระโพธิสัตว์ในอดีตชาติ และมี คาถาภาษิตของผู้อื่นปนอยู่บ้าง ภาคแรก
ตั้งแต่เรื่องที่มีคาถาเดียว (เอกนิบาต)
ถึงเรื่องมี ๔๐ คาถา (จัตตาฬีสนิบาต) รวม ๕๒๕ เรื่อง เล่ม ๒๘ ชาดก ภาค ๒ รวมคาถาอย่างในภาค ๑ นั้น
เพิ่มอีก แต่เป็นเรื่องอย่างยาว ตั้งแต่เรื่องมี ๕๐ คาถา
(ปัญญาสนิบาต) ถึงเรื่องมีคาถามากมาย (มหานิบาต)
จบลงด้ว
ยมหาเวสสันดรชาดก ซึ่งมี ๑,๐๐๐ คาถา
รวมอีก ๒๒ เรื่อง
บรรจบทั้งสองภาค เป็น ๕๔๗ ชาดก เล่ม ๒๙ มหานิทเทส ภาษิตของพระสารีบุตร
อธิบายขยายความพระสูตร ๑๖ สูตร
ในอัฏฐกวรรคแห่งสุตตนิบาต เล่ม ๓๐ จูฬนิทเทส ภาษิตของพระสารีบุตร
อธิบายขยายความพระสูตร ๑๖ สูตร
ในปารายนวรรคและขัคควิสาณ สูตร ในอุรควรรค แห่งสุตตนิบาต เล่ม ๓๑ ปฏิสัมภิทามรรค ภาษิตของพระสารีบุตร
อธิบายข้อธรรมที่ลึกซึ้งต่างๆ เช่นเรื่อง ญาณ ทิฏฐิ
อานาปาน อินทรีย์ วิโมกข์ เป็นต้น อย่างพิสดาร
เป็นทางแห่งปัญญาแตกฉาน เล่ม ๓๒ อปทาน ภาค ๑ คาถาประพันธ์แสดงประวัติ
โดยเฉพาะในอดีตชาติ เริ่มด้วยพุทธอปทาน
(ประวัติของ พระพุทธเจ้า) ปัจเจกพุทธอปทาน
(เรื่องราวของพระปัจเจกพุทธเจ้า) ต่อด้วยเถรอปทาน
(อัตตประวัติแห่งพระอร หันตเถระ) เรียงลำดับเริ่มแต่พระสารีบุตร
ตามด้วยพระมหาโมคคัลลานะ พระมหากัสสปะ
พระอนุรุทธ พระปุณณ มันตานีบุตร พระอุบาลี พระอัญญาโกณฑัญญะ
พระปิณโฑลภารทวาชะ พระขทิรวนิยเรวตะ
พระอานนท์ ต่อเรื่อย ไปจนจบภาค ๑ รวม พระอรหันตเถระ ๔๑๐ รูป เล่ม ๓๓ อปทาน ภาค ๒ คาถาประพันธ์แสดง
อัตตประวัติพระอรหันตเถระต่ออีกจนถึงรูปที่ ๕๕๐ ต่อ
นั้น เป็น เถรีอปทานแสดงเรื่องราวของพระอรหันตเถรี ๔๐ เรื่อง
เริ่มด้วยพระเถรีที่ไม่คุ้นนาม ๑๖ รูป ต่อด้วยพระเถรีที่ สำคัญเรียงลำดับคือพระมหาปชาบดีโคตมี พระเขมา
พระอุบลวรรณา พระปฏาจารา พระกุณฑลเกสี พระกีสา โคตมี พระธรรมทินนา พระสกุลา พระนันทา พระโสณา
พระภัททกาปิลานี พระยโสธรา และท่านอื่นๆ ต่อไปจน จบ ครั้นจบอปทานแล้ว ท้ายเล่ม ๓๓ นี้ มีคัมภีร์
พุทธวงส์ เป็นคาถาประพันธ์แสดงเรื่องของพระพุทธเจ้า
ในอดีต ๒๔ พระองค์ที่พระพุทธเจ้าพระองค์ปัจจุบันเคย
ได้ทรงเฝ้าและได้รับพยากรณ์จนถึงประวัติของพระองค์
เองรวมเป็นพระพุทธเจ้า ๒๕ พระองค์
จบแล้วมีคัมภีร์สั้นๆ ชื่อ จริยาปิฎก เป็นท้ายสุด
แสดงพุทธจริยาในอดีตชาติ ๓๕ เรื่องที่มีแล้วในชาดก
แต่เล่าด้วยคาถาประพันธ์ใหม่
ชี้ตัวอย่างการบำเพ็ญบารมีบางข้อ
ค. พระอภิธรรมปิฎก ๑๒ เล่ม เล่ม ๓๔ ธัมมสังคณี ต้นเล่มแสดง มาติกา (แม่บท)
อันได้แก่บทสรุปแห่งธรรมทั้งหลายที่จัดเป็นชุดๆ
มีทั้งชุด ๓ เช่น จัดทุกสิ่งทุกอย่างประดามีเป็นกุศลธรรม
อกุศลธรรม อัพยากฤตธรรม ชุดหนึ่ง เป็นอดีตธรรม
อนาคตธรรม ปัจจุบันธรรม ชุดหนึ่ง ฯลฯ และชุด ๒
เช่น จัดทุกสิ่งทุกอย่างเป็นสังขตธรรม อสังขตธรรม
ชุดหนึ่ง รูปีธรรม อรูปีธรรม ชุดหนึ่ง โลกียธรรม
โลกุตตรธรรม ชุดหนึ่งเป็นต้น รวมทั้งหมดมี ๑๖๔ ชุด
หรือ ๑๖๔ มาติกา จากนั้นขยายความมาติกาที่ ๑
เป็นตัวอย่าง แสดงให้เห็นกุศลธรรม อกุศลธรรม
และอัพยากฤตธรรมที่กระจายออกไปโดย จิต เจตสิก รูป และนิพพาน ท้ายเล่มมีอีก ๒ บท
แสดงคำอธิบายย่อหรือคำจำกัดความข้อธรรมทั้งหลาย
ในมาติกาที่กล่าวถึงข้างต้นจนครบ ๑๖๔ มาติกา
ได้คำจำกัดความข้อธรรมใน ๒ บท เป็น ๒ แบบ
(แต่บทท้ายจำกัดความไว้เพียง ๑๒๒ มาติกา) เล่ม ๓๕ วิภังค์ ยกหลักธรรมสำคัญ ๆ ขึ้นมาแจก
แจงแยกแยะอธิบายกระจายออกให้เห็นทุกแง่จนชัดเจน
จบไปเป็นเรื่องๆ รวมอธิบายทั้งหมด ๑๘ เรื่อง คือ
ขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ ธาตุ ๑๘อริยสัจจ์ ๔ อินทรีย์
๒๒ ปฏิจจสมุปบาท สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔
อิทธิบาท ๔ โพชฌงค์ ๗ มรรคมีองค์ ๘ ฌาน
อัปปมัญญา ศีล ๕ ปฏิสัมภิทา ๔ ญาณ ประเภทต่าง ๆ และเบ็ดเตล็ดว่าด้วยอกุศลธรรมต่างๆ
อธิบายเรื่องใด ก็เรียกว่าวิภังค์ของเรื่องนั้นๆ
เช่นอธิบายขันธ์ ๕ ก็เรียกขันธวิภังค์ เป็นต้น รวมมี ๑๘ วิภังค์ เล่ม ๓๖ ธาตุกถา นำข้อธรรมในมาติกาทั้งหลาย
และข้อธรรมอื่นๆ อีก ๑๒๕ อย่าง
มาจัดเข้าในขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ และธาตุ ๑๘ ว่าข้อใดได้หรือไม่ได้ในอย่างไหนๆ
และปุคคลบัญญัติ บัญญัติความหมายของชื่อที่ใช้
เรียกบุคคลต่างๆ ตามคุณธรรม เช่นว่า “โสดาบัน”
ได้แก่ บุคคลผู้ละสังโยชน์๓ ได้แล้ว ดังนี้เป็นต้น เล่ม ๓๗ กถาวัตถุ คัมภีร์ที่พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระ
ประธานการสังคายนาครั้งที่ ๓ เรียบเรียงขึ้น
เพื่อแก้ความเห็นผิดของนิกายต่างๆ ในพระพุทธศาสนา
ครั้งนั้น ซึ่งได้แตกแยกกันออกแล้วถึง ๑๘ นิกาย
เช่นความเห็นว่า พระอรหันต์เสื่อมจากอรหัตตผลได้
เป็นพระอรหันต์พร้อมกับการเกิดได้ ทุกอย่างเกิดจาก
กรรมเป็นต้น ประพันธ์เป็นคำปุจฉาวิสัชนา
มีทั้งหมด ๒๑๙ กถา เล่ม ๓๘ ยมก ภาค ๑ คัมภีร์อธิบายหลักธรรม
สำคัญให้เห็นความหมายและขอบเขตอย่างชัดเจน
และทดสอบความ รู้อย่างลึกซึ้ง ด้วยวิธีตั้งคำถามย้อนกันเป็นคู่ๆ
(ยมก แปลว่า คู่) เช่นถามว่า ธรรมทั้งปวงที่เป็นกุศล
เป็นกุศลมูล หรือว่าธรรมทั้งปวงที่เป็นกุศลมูล
เป็นกุศล, รูป (ทั้งหมด) เป็นรูปขันธ์ หรือว่ารูปขันธ์
(ทั้งหมด) เป็นรูป, ทุกข์ (ทั้งหมด) เป็นทุกขสัจจ์
หรือว่าทุกขสัจจ์ (ทั้งหมด) เป็นทุกข์
หลักธรรมที่นำมาอธิบายในเล่มนี้มี ๗ คือ มูล
(เช่นกุศลมูล) ขันธ์
อายตนะ ธาตุ สัจจะ สังขาร อนุสัย
ถามตอบอธิบายเรื่องใด ก็เรียกว่ายมกของเรื่องนั้นๆ
เช่น มูลยมก ขันธยมก เป็นต้น เล่มนี้จึงมี ๗ ยมก เล่ม ๓๙ ยมก ภาค ๒ ถามตอบอธิบายหลักธรรม
เพิ่มเติมจากภาค ๑ อีก ๓ เรื่อง คือ จิตตยมก
ธรรมยมก (กุศล-อกุศล-อัพยากตธรรม) อินทรียยมก
บรรจบเป็น ๑๐ ยมก เล่ม ๔๐ ปัฏฐาน ภาค ๑ คัมภีร์ปัฏฐานอธิบายปัจจัย
๒๔ โดยพิสดาร แสดงความสัมพันธ์อิงอาศัยเป็นปัจจัย
แก่กันแห่งธรรมทั้งหลายในแง่ด้านต่างๆ ธรรมที่นำมา
อธิบายก็คือข้อธรรมที่มีในมาติกาคือแม่บทหรือบท
สรุปธรรม ซึ่งกล่าวไว้แล้วในคัมภีร์สังคณีนั่นเอง
แต่อธิบายเฉพาะ ๑๒๒ มาติกาแรกที่เรียกว่า
อภิธรรมมาติกา ปัฏฐานเล่มแรกนี้ อธิบายความหมาย
ของปัจจัย ๒๔ เป็นการปูพื้นความเข้าใจเบื้องต้นก่อน
จากนั้นจึงเข้าสู่เนื้อหาของเล่ม คือ อนุโลมติกปัฏฐาน
อธิบายความเป็นปัจจัยแก่กันแห่งธรรมทั้งหลาย
ในแม่บทชุด ๓ (ติกมาติกา) โดยปัจจัย ๒๔ นั้น
เช่นว่า กุศลธรรมเป็นปัจจัยแก่กุศลธรรมโดยอุปนิสสยปัจจัย
(เพราะศรัทธา จึงให้ทาน จึงสมาทานศีล
จึงบำเพ็ญฌาน จึงเจริญวิปัสสนา ฯลฯ)
กุศลธรรมเป็นปัจจัยแก่อกุศลธรรมโดยอุปนิสสยปัจจัย
(คิดถึงทานที่ตนได้ให้ ศีลที่ได้รักษาแล้ว
ดีใจ ยึดเป็นอารมณ์แน่นหนาจนเกิดราคะ ทิฏฐิ,
มีศรัทธา มีศีล มีปัญญา แล้วเกิดมานะว่า ฉันดีกว่า
เก่งกว่า หรือเกิดทิฏฐิว่า ต้องทำอย่างเรานี้เท่านั้นจึง
ถูกต้อง ฯลฯ) อกุศลธรรมเป็นปัจจัยแก่กุศลธรรม
โดยอุปนิสสยปัจจัย (เพราะความอยากบางอย่าง
หรือเพราะมานะหรือทิฏฐิ จึงให้ทาน จึงรักษาศีล
จึงทำฌานให้เกิด ฯลฯ) กุศลธรรมเป็นปัจจัยแก่ อกุศลธรรม โดยอารัมมณปัจจัย
(คิดถึงฌานที่ตนเคยได้แต่มาเสื่อมไปเสียแล้ว
เกิดความโทมนัส ฯลฯ) อย่างนี้เป็นต้น (เล่มนี้อธิบายแต่ในเชิงอนุโลมคือตามนัยปกติไม่
อธิบายตามนัยปฏิเสธจึงเรียกว่าอนุโลมปัฏฐาน) เล่ม ๔๑ ปัฏฐาน ภาค ๒ อนุโลมติกปัฏฐาน
ต่อ คือ อธิบายความเป็นปัจจัยแก่กันแห่งธรรม
ทั้งหลายในแม่บทชุด ๓ ต่อจากเล่ม ๔๐ เช่น
อดีตธรรมเป็นปัจจัยแก่ปัจจุบันธรรม โดยอารัมมณปัจจัย
(พิจารณารูปเสียงเป็นต้น ที่ดับเป็นอดีตไปแล้วว่าเป็นของ
ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เกิดความโทมนัสขึ้น
ฯลฯ) เป็นต้น เล่ม ๔๒ ปัฏฐาน ภาค ๓ อนุโลมทุกปัฏฐาน
อธิบายความเป็นปัจจัยแก่กันแห่งธรรมทั้งหลาย
ในแม่บทชุด ๒ (ทุกมาติกา) เช่น โลกียธรรมเป็น
ปัจจัยแก่โลกียธรรม โดยอารัมมณปัจจัย (รูปายตนะ
เป็นปัจจัยแก่จักขุวิญญาณ ฯลฯ) ดังนี้ เป็นต้น เล่ม ๔๓ ปัฏฐาน ภาค ๔ อนุโลมทุกปัฏฐาน ต่อ เล่ม ๔๔ ปัฏฐาน ภาค ๕ ยังเป็นอนุโลมปัฏฐาน
แต่อธิบายความเป็นปัจจัยแก่กันแห่งธรรมทั้งหลาย
ในแม่บทต่างๆ ข้ามชุดกันไปมา ประกอบด้วย อนุโลมทุกติกปัฏฐาน ธรรมในแม่บทชุด ๒
(ทุกมาติกา) กับธรรมในแม่บทชุด ๓ (ติกมาติกา)
เช่น อธิบาย "กุศลธรรมที่เป็นโลกุตตรธรรม
เป็นปัจจัยแก่กุศลธรรม ที่เป็นโลกียธรรมโดยอธิปติปัจจัย"
เป็นอย่างไร เป็นต้น
อนุโลมติกทุกปัฏฐาน ธรรมในแม่บทชุด ๓
(ติกมาติกา) กับธรรมในแม่บทชุด ๒
(ทุกมาติกา) อนุโลมติกติกปัฏฐาน ธรรมในแม่บทชุด ๓
(ติกมาติกา) กับธรรมในแม่บทชุด ๓ (ติกมาติกา)
โยงระหว่างต่างชุดกัน เช่นอธิบายว่า
"กุศลธรรมที่เป็นอดีตธรรมเป็นปัจจัยแก่อกุศลธรรมที่
เป็นปัจจุบันธรรม" เป็นอย่างไร เป็นต้น อนุโลมทุกทุกปัฏฐาน ธรรมในแม่บทชุด ๒ (ทุกมาติกา)
กับธรรมในบทชุด ๒ (ทุกมาติกา) โยงระหว่างต่างชุดกัน เช่นชุดโลกียะ โลกุตตระ กับชุดสังขตะอสังขตะ เป็นต้น เล่ม ๔๕ ปัฏฐาน ภาค ๖ เป็นปัจจนียปัฏฐาน
คืออธิบายความเป็นปัจจัยแก่กันแห่งธรรมทั้งหลาย
อย่างเล่มก่อนๆ นั่นเอง แต่อธิบายแง่ปฏิเสธ
แยกเป็น ปัจจนียปัฏฐาน คือ ปฏิเสธ+ปฏิเสธ
เช่นว่า ธรรมที่ไม่ใช่กุศล อาศัยธรรมที่ไม่ใช่ กุศลเกิดขึ้นโดยเหตุปัจจัย เป็นอย่างไร
อนุโลมปัจจนียปัฏฐาน คือ อนุโลม+ปฏิเสธ
เช่นว่า อาศัยโลกิยธรรม ธรรมที่ ไม่ใช่โลกุตตรธรรมเกิดขึ้นโดยเหตุปัจจัย เป็นอย่างไร
ปัจจนียานุโลมปัฏฐาน คือ ปฏิเสธ+อนุโลม เช่นว่า
อาศัยธรรมที่ไม่ใช่กุศลธรรมที่เป็นอกุศล เกิดขึ้น
โดยเหตุปัจจัย เป็นอย่างไร และในทั้ง ๓ แบบนี้
แต่ละแบบ จะอธิบายโดยใช้ธรรมในแม่บทชุด ๓ แล้ว
ต่อด้วยชุด ๒ แล้วข้ามชุดระหว่างชุด ๒ กับชุด ๓
ชุด ๓ กับชุด ๒ ชุด ๓ กับชุด ๓
ชุด ๒ กับชุด ๒ จนครบทั้งหมดเหมือนกัน
ดังนั้นแต่ละแบบจึงแยกซอยละเอียดออกไปเป็น
ติก ทุก ทุกติก ติกทุก ติกติก ทุกทุก ตามลำดับ
(เขียนให้เต็มเป็น ปัจจนียติกปัฏฐาน
ปัจจนียทุกปัฏฐาน ปัจจนียทุกติกปัฏฐาน ฯลฯ ดังนี้ เรื่อยไป จนถึงท้ายสุดคือ ปัจจนียานุโลมทุกทุกปัฏฐาน)
คัมภีร์ปัฏฐานนี้ ท่านอธิบายค่อนข้างละเอียด
เฉพาะเล่มต้นๆ เท่านั้นเล่มหลังๆ
ท่านแสดงไว้แต่หัวข้อหรือแนว และทิ้งไว้ให้
ผู้เข้าใจแนวนั้นแล้วเอาไปแจกแจงโดยพิสดารเอง
โดยเฉพาะเล่มสุดท้ายคือภาค ๖ แสดงไว้ย่นย่อที่สุด แม้กระนั้นก็ยังเป็นหนังสือถึง ๖ เล่ม หรือ ๓,๓๒๐
หน้ากระดาษพิมพ์ ถ้าอธิบายโดยพิสดารทั้งหมดจะ
เป็นเล่มหนังสืออีกจำนวนมากมายหลายเท่าตัว
ท่านจึงเรียกปัฏฐานอีกชื่อหนึ่งว่า "มหาปกรณ์"
แปลว่า ตำราใหญ่ ใหญ่ทั้งโดยขนาดและโดยความสำคัญ
พระอรรถกถาจารย์กล่าวว่า พระไตรปิฎกมี
เนื้อความทั้งหมด ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์
แบ่งเป็น พระวินัยปิฎก ๒๑,๐๐๐ พระธรรมขันธ์
พระสุตตันตปิฎก ๒๑,๐๐๐ พระธรรมขันธ์
และพระอภิธรรมปิฎก ๔๒,๐๐๐ พระธรรมขันธ์

Source : www.84000.org

ในทางพระพุทธศาสนา การกินเจ ไม่ได้บุญ และกินเนื้อ ก็ไม่เป็นบาป สมเด็จพระญาณสังวรฯ ทรงตรัสไว้ชัด


การกินเจ (ตั้งใจไม่กินเนื้อสัตว์) จริงๆไม่ได้บุญอธิบาย คือ เราไม่กินข้าวขาหมู แล้วคิด(จินตนาการ) ว่า หมูจะไม่ถูกฆ่า เปรียบได้กับเรานั่งอยู่บ้านเฉยๆแล้วคิด(จินตนาการ) ว่า เราไปช่วยสอนหนังสือคนอนาถา บุญที่เราไปสอนหนังสือคนอนาถานั้น ไม่มี ไม่เกิด เพราะเรา นึกๆคิดๆไปเองไม่ได้ทำ ไม่ได้กระทำจริง
ถ้าอยากได้บุญ เราต้องช่วยชีวิตสัตว์ มี ๒ ข้อ คือ
๑.ช่วยชีวิตมันโดยการไถ่ชีวิต ซื้อสัตว์ที่กำลังถูกฆ่านำมาปล่อย
๒.เมตตาสัตว์ไม่ทำร้ายมัน อย่างนี้เป็นบุญ
แต่การกินเจ บุญไม่เกิด เพราะเราไม่ได้ลงมือกระทำจริง(ช่วยชีวิตสัตว์) เป็นเพียงแต่คิดไปเอง
พระเทวทัตเคย มาเสนอให้ชาวพุทธไม่กินเนื้อสัตว์พระพุทธเจ้าปฏิเสธ พร้อมให้เหตุผลว่า
๑. เนื้อสัตว์ไม่ใช่ของเหม็น อกุศลกรรมต่างหากที่เป็นของเหม็น
๒. พระต้อง ควรเป็นผู้เลี้ยงง่าย
๓. อนุญาตในการกินเนื้อสัตว์ที่ -ไม่เห็น -ไม่รู้ -ไม่ใช่เนื้อที่ฆ่าโดยเฉพาะให้ตน
๔. อาหารเป็นแค่ของเลี้ยงกายไม่ให้ตาย อย่าสนใจมาก
การรับประทานอาหารมังสวิรัติเป็นบุญหรือไม่ ?
การที่จะวินิจฉัยว่าการกระทำอะไร เป็นบุญหรือไม่เป็นบุญนั้น ต้องอาศัยกับหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า ที่ว่าด้วย บุญกิริยาวัตถุ ๑๐ อย่าง คือ
๑. ทานมัย บุญสำเร็จด้วยการบริจาคทาน
๒. สีลมัย บุญสำเร็จด้วยการรักษาศีล
๓. ภาวนามัย บุญสำเร็จด้วยการเจริญภาวนา
๔. อปจายนมัย บุญสำเร็จด้วยประพฤติอ่อนน้อมถ่อมตนต่อผู้ใหญ่
๕. เวยยาวัจจมัย บุญสำเร็จด้วยการช่วยเหลือขวนขวายในกิจการงานต่างๆ
๖. ปัตติทานมัย บุญสำเร็จด้วยการให้ส่วนบุญ
๗. ปัตตานุโมทนามัย บุญสำเร็จด้วยการอนุโมทนาส่วนบุญ
๘. ธัมมัสสวนมัย บุญสำเร็จด้วยการฟังธรรม
๙. ธัมมเทสนามัย บุญสำเร็จด้วยการแสดงธรรม
๑๐.ทิฏฐุชุกัมม์ การทำความคิดเห็นของตนให้ตรง
เมื่อเทียบเคียงกับบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ วิธี แล้ว ไม่พบว่าการรับประทานอาหารมังสวิรัติ คือ รับประทานแต่พืชผักเป็นวิธีทำบุญข้อใดเลย จึงไม่นับว่าเป็นวิธีทำบุญในพระพุทธศาสนา ลองคิดดูว่าถ้าการกินพืช เช่น ผัก หญ้า ได้บุญ แล้วสัตว์ที่กินพืชเป็นอาหาร เช่น วัว ควาย แพะ แกะ ก็ต้องได้บุญมากกว่ามนุษย์ เพราะสัตว์พวกนี้กินพืชตลอดชีวิตไม่กินเนื้อสัตว์เลย
การกินเนื้อสัตว์ บาป หรือ ไม่ ?
การที่จะวินิจฉัยว่าบาปหรือไม่บาปนั้น ต้องพิจารณาว่า การกินเนื้อสัตว์ที่ตายแล้ว เป็นการผิดศีลข้อปาณาติบาต หรือไม่ ศีลข้อปาณาติบาต คือ งดเว้นจากการฆ่าสัตว์ นั้นจะผิดศีลก็ต่อเมื่อประกอบด้วย องค์ ๕ คือ
๑. ปาโณ สัตว์มีชีวิต
๒. ปาณสญฺญิตา รู้ว่าสัตว์มีชีวิต
๓. วธกจิตฺตํ จิตคิดจะฆ่า
๔. อุปกฺกโม พยายามที่จะฆ่า
๕. เตนมรณํ สัตว์ตายด้วยความพยายามนั้น
เมื่อครบองค์ประกอบทั้ง ๕ ข้อ จึงถือว่าเป็นการฆ่าสัตว์ ผิดศีลข้อที่ ๑ เป็นบาป แต่ถ้าไม่ได้ลงมือฆ่าเอง และไม่ได้ใช้ให้ผู้อื่นฆ่า ก็ไม่เป็นบาป ตัวอย่าง เราไปจ่ายตลาด ซื้อกุ้งแห้ง ปลาดุกย่าง ปลาทู เนื้อหมู ฯลฯ เราได้มีส่วนร่วมในการฆ่าสัตว์เหล่านั้นหรือไม่ สัตว์เหล่านั้นย่อมตายก่อนที่เราจะไปซื้อมาเป็นอาหาร ถึงเราจะซื้อหรือไม่ซื้อ สัตว์เหล่านั้นก็ตายอยู่แล้ว เราไม่ได้มีส่วนทำให้ตาย
มีพุทธภาษิตบทหนึ่งว่า“นตฺถิปาปํอกุพฺพโต”แปลได้ความว่า“บาป ไม่มีแก่ผู้ไม่ทำ”
การกินผักก็อาจจะต้องฆ่าสัตว์ทางอ้อมไปด้วยเช่นกัน เพราะต้องไถดิน ใส่ปุ๋ย ใช้ยากำจัดแมลง อาจทำให้แมลงต่างๆ ไส้เดือนตายได้ ถ้าแบบนี้บาปก็คงไม่ต้องทำสัมมาอาชีพกันเลย
หลวงปู่แหวนท่านบอกว่า”ไอ้วัวควายกินหญ้าอยู่ตั้งนาน ไม่เห็นเป็นพระอรหันต์ซักตัว”
ขอขอบคุณที่มา : พระอรหันต์ สายหลวงปู่มั่น

วันศุกร์ที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2560

ถ้อยคำสำหรับถวายความอาลัย ช่วงราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ในหลวง ร.๙






ถ้อยคำสำหรับถวายความอาลัย ช่วงราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ในหลวง ร.๙

ขอขอบคุณรูปภาพและเนื้อหา
Cr. / Source : เฟซบุ๊คแฟนเพจ PANguin SAD

Most watched