วันพฤหัสบดีที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2556

อาลัย "สมเด็จพระสังฆราช" สิ้นแล้ว เหตุติดเชื้อในกระแสพระโลหิต

รพ.จุฬาฯ ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 9 "สมเด็จพระสังฆราช" สิ้นพระชนม์แล้ว ระบุติดเชื้อในกระแสพระโลหิต ด้านพุทธศาสนิกชนร่วมถวายอาลัยผ่านสังคมออนไลน์ ขอพระองค์สู่พระนิพพาน
ภาพจากเฟซบุ๊กสำนักเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช
วันนี้ (24 ต.ค.) โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ออกแถลงการณ์เรื่อง "พระอาการประชวรของ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก ขณะประทับ ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ฉบับที่ 9" โดยเนื้อหาแถลงการณ์ระบุว่า คณะแพทย์ผู้ถวายการรักษารายงานว่า สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก มีพระอาการโดยรวมทรุดลง ได้สิ้นพระชนม์ลงแล้ว เมื่อเวลา 19.30 น. สาเหตุเนื่องจากการติดเชื้อในกระแสพระโลหิต จึงประกาศมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน






อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้าที่ รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย จะออกแถลงการณ์เฟซบุ๊กแฟนเพจ "สำนักเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช" ได้โพสต์ คำอธิษฐานถวายพระพร

“ขอถวายบุญกุศลทั้งปวงที่บำเพ็ญมาตั้งแต่อดีตชาติจนถึงปัจจุบัน ณ วินาทีนี้แด่เจ้าพระคุณฯสมเด็จพระสังฆราช
ขอรวมกุศลทั้งปวงเป็นแสงสว่างไสวใสบริสุทธิ์ถวายจิต แห่งพระองค์ท่านให้ยิ่งสว่างไสวผ่องแผ้วยิ่งๆขึ้นไป
สิ่งใดทางกาย วาจา ใจที่อาจมีล่วงเกิน ทั้งรู้และไม่รู้ตัว ข้าพเจ้ากราบขอขมากรรมทั้งหมด ขอโมทนากุศลทุกสิ่งที่ทรงปฏิบัติมา และจะทรงบำเพ็ญต่อไป ไม่ว่าจะอยู่ในพระสังขารหรือใดๆ ขอพระรัตนตรัยโปรดชี้นำและเปิดทางสว่างให้ข้าพเจ้าขอปฏิบัติธรรม เดินจิตได้ถูกธรรม เพื่อให้สมเป็นผู้เดินตามรอยธรรมของพระผู้ประเสริฐและงดงามพระองค์นี้ด้วย เทอญ”

ต่อมาได้โพสต์ข้อความว่า “ขอพุทธศาสนิกชนตั้งมั่นใน "สติ" และรอรับฟังคำแถลงข่าวอย่างเป็นทางการ

และสุดท้ายได้โพสต์ข้อความ 24 ตุลาคม 2556 สมเด็จพระฌาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 19 สิ้นพระชนม์ โปรดติดตามการแถลงข่าวอย่างเป็นทางการ และขอความกรุณาใช้พระรูปนี้ในการเผยแพร่ข้อมูล เพื่อเป็นการถวายพระเกียรติยศสูงสุด ซึ่งมีพุทธศาสนิกชนจำนวนมาเข้ามาถวายความไว้อาลัย อาทิ

"ขอให้พระองค์ทรงพระดำเนินยังทรวงสวรรค์สถิตในดวงใจของปวงพุทธศาสนชนทั่วกาลนานเทอญ" คนดี แสนดี

"ขอน้อมนมัสการถวายความอาลัยอย่างหาที่สุดมิได้ครับ" Kritsana Mekkanjai

"ใจจะขาด
@ปิ่มปานว่าจะขาดใจโหยไห้หา
น้ำตารินหลั่งนองอาบสองแก้ม
วิปโยคโศกรันทดสลดแซม
วามวาวแวมรินหยดแทบจรดกราบ ฯ
"ตึก หน้าพระลาน"
24 ตุลาคม 2556" นายยอด รักในหลวง รักเมืองไทย

"ขอน้อมส่งเสด็จสู่นิพพาน" KookKik J-ka

"กราบนมัสการส่งเสด็จฯ ท่านเจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก ทรงดำรงพระชนม์เพื่อบำรุงบวรพุทธศาสนามาถึง ๑๐๐ ปี กราบสาธุ สาธุ สาธุ" Son Loyalist

"ขอน้อมดวงใจส่งท่านไปสู่ภพ นิพพานด้วยเทอญ..สาธุ.." Siwaporn Treewut

"รู้สึกสะเทือนใจเป็นอย่างยิ่ง สิ้นสมเด็จพระสังฆบิดร น้อมส่งเสด็จพระองค์สู่สุทธาวาส" ศ. มหาปัญญวงศ์

"ถึงท่านจะดับสิ้นลมหายใจ แต่คำสอนและความดียังอยู่ในใจผมเสมอครับ ขอน้อมรับโอวาทท่านไว้ดำเนินตามต่อไปครับ สาธุ สาธุ สาธุ" Naisorn Somwong

"เศร้าจัง ท่านเป็นพระที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ รู้สึกสูญเสียบุคคลสำคัญที่มีคุณทางพระพุทธศาสนา แต่ทุกชีวิตสุดท้ายก็สิ้นสุดที่ความตาย ชีวิตคนเราก็แค่มาอาศัยบนโลกใบนี้ชั่วคราว เพียงแต่เราจะใช้ความโชคดีที่เป็นมนุษย์ได้สร้างคุณความดีแค่ไหน เหมือนที่สมเด็จพระสังฆราชทำให้พวกเราดูเป็นตัวอย่าง" Nitaya Boonchuay




ประวัติสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

ขณะทรงพระเยาว์

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก มีพระนามเดิมว่า เจริญ คชวัตร ประสูติเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ.2456 เป็นบุตรคนโตของนายน้อย คชวัตร และนางกิมน้อย คชวัตร ชาวกาญจนบุรี พระองค์มีน้องชาย 2 คน ได้แก่ นายจำเนียร คชวัตรและนายสมุทร คชวัตร บิดาของพระองค์ป่วยเป็นโรคเนื้องอกและเสียชีวิตไปตั้งแต่พระองค์ยังเล็ก หลังจากนั้น พระองค์ได้มาอยู่ในความดูแลของป้าเฮงซึ่งเป็นพี่สาวของนางกิมน้อยที่ได้ขอพระองค์มาเลี้ยงดู เมื่อพระชนมายุได้ 8 ขวบ ทรงเข้าเรียนที่โรงเรียนประชาบาล วัดเทวสังฆาราม จนจบชั้นประถม 5 (เทียบเท่าชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 และ2 ในปัจจุบัน) เมื่อ พ.ศ. 2468 ในขณะที่มีพระชนมายุ 12 พรรษา หลังจากนั้น ทรงไม่รู้ว่าจะเรียนอะไรต่อและไม่รู้ว่าจะเรียนที่ไหน ทรงเล่าว่า "เมื่อเยาว์วัยทรงมีพระอัธยาศัยค่อนข้างขลาด กลัวต่อคนแปลกหน้า และค่อนข้างจะเป็นคนติดป้าที่อยู่ ใกล้ชิดกันมาแต่ทรงพระเยาว์โดยไม่เคยแยกจากกันเลย" จึงทำให้พระองค์ไม่กล้าตัดสินพระทัยไปเรียนต่อที่อื่น

บรรพชาและอุปสมบท

เมื่อพระองค์ยังทรงพระเยาว์นั้นทรงเจ็บป่วยออดแอดอยู่เสมอ โดยมีอยู่คราวหนึ่งที่ทรงป่วยหนักจนญาติ ๆ ต่างพากันคิดว่าคงไม่รอดแล้วและได้บนไว้ว่า ถ้าหายป่วยจะให้บวชเพื่อแก้บน แต่เมื่อหายป่วยแล้ว พระองค์ก็ยังไม่ได้บวช จนกระทั่งเรียนจบชั้นประถม 5 แล้วพระองค์จึงได้ทรงบรรพชาเป็นสามเณรเพื่อแก้บนในปี พ.ศ. 2469 ขณะมีพระชนมายุได้ 14 พรรษา ที่วัดเทวสังฆาราม โดยมีพระเทพมงคลรังษี (ดี พุทธฺโชติ) เจ้าอาวาสวัดเทวสังฆารามเป็นพระอุปัชฌาย์และพระครูนิวิฐสมาจาร (เหรียญ สุวณฺณโชติ) เจ้าอาวาสวัดศรีอุปลารามเป็นพระอาจารย์ให้สรณะและศีล

ภายหลังบรรพชาแล้วได้จำพรรษาอยู่ที่วัดเทวสังฆาราม 1 พรรษาและได้มาศึกษาพระธรรมวินัยที่วัดเสน่หา จังหวัดนครปฐม หลังจากนั้น พระเทพมงคลรังษี (ดี พุทธฺโชติ) พระอุปัชฌาย์ได้พาพระองค์ไปยังวัดบวรนิเวศวิหาร และนำพระองค์ขึ้นเฝ้าถวายตัวต่อสมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร (ต่อมา คือ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์) เพื่ออยู่ศึกษาพระปริยัติธรรมในสำนักวัดบวรนิเวศ วิหาร พระองค์ทรงได้รับประทานนามฉายาจากสมเด็จพระสังฆราชว่า “สุวฑฺฒโน” ซึ่งมีความหมายว่า “ผู้เจริญดี”[4] กระทั่งชันษาครบอุปสมบท จึงได้เดินทางกลับไปอุปสมบทที่วัดเทวสังฆารามเมื่อพ.ศ. 2476 ภายหลังจึงได้เดินทางเข้ามาจำพรรษา ณ วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพมหานคร เพื่อทรงศึกษาพระธรรมวินัยต่อไป และที่วัดบวรนิเวศวิหารนี่เองพระองค์ท่านได้เข้าพิธีอุปสมบทซ้ำเป็นธรรมยุติกนิกาย โดยมีสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์เป็นพระอุปัชฌาย์ ด้านการศึกษา ทรงสอบได้เปรียญธรรม 9 ประโยค ในปีพ.ศ. 2484

การศึกษาพระปริยัติธรรม

พ.ศ. 2472 สอบได้นักธรรมชั้นตรี
พ.ศ. 2473 สอบได้นักธรรมชั้นโท และเปรียญธรรม 3 ประโยค
พ.ศ. 2475 สอบได้นักธรรมชั้นเอก และเปรียญธรรม 4 ประโยค
พ.ศ. 2476 อุปสมบทที่วัดเทวสังฆาราม จำพรรษาที่วัดนี้ 1 พรรษา แล้วกลับมาวัดบวรนิเวศวิหาร อุปสมบทซ้ำเป็นธรรมยุต และสอบไล่เปรียญธรรม 5 ประโยค
พ.ศ. 2477, พ.ศ. 2478, พ.ศ. 2481 และ พ.ศ. 2484 สอบได้เปรียญธรรม 6, 7, 8 และ 9 ประโยคตามลำดับ

การดำรงตำแหน่งพระอภิบาล

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงฉายภาพหมู่ร่วมกับคณะพระภิกษุสงฆ์วัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อคราวทรงผนวช ท่านได้ทรงอุทิศตนเพื่องาน พระศาสนาโดยไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อย ทรงรับเป็นองค์แสดงธรรมยังสถานที่ต่าง ๆ หลายแห่ง นอกจากนั้นยังได้ทรงนิพนธ์ ผลงานทางวิชาการ เอกสาร และตำราด้านพุทธศาสนา ซึ่งล้วนแต่ทรงคุณค่าอย่างยิ่งไว้มากมาย พ.ศ. 2499สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ทรงเลือกให้เป็นพระอภิบาล (พระพี่เลี้ยง) ของพระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ในระหว่างที่ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ และเสด็จประทับ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ระหว่าง วันที่ 22 ตุลาคม - 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2499

พระกรณียกิจ

พระกรณียกิจของพระองค์ตลอดห้วงระยะเวลาที่ผ่านมามีอยู่เป็นอเนกอนันต์ พอจะสรุปได้ดังนี้

ด้านการพระศาสนาในต่างประเทศ

พระองค์ได้เป็นกำลังสำคัญในการดำเนินการมาโดยลำดับ ดังนี้ พ.ศ. 2509 ในฐานะประธานกรรมการอำนวยการฝึกอบรมพระธรรมทูตในต่างประเทศ ได้เสด็จไปเป็นประธานสงฆ์ ในพิธีเปิดวัดพุทธประทีป ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ และดูกิจการพระธรรมทูตในประเทศอังกฤษและอิตาลี พ.ศ. 2511 เสด็จไปดูการพระศาสนา วัฒนธรรม และการศึกษาในประเทศอินโดนีเซีย ออสเตรเลีย และฟิลิปปินส์ อันเป็นผลให้ต่อมาได้มีการวางแผนร่วมกับชาวพุทธอินโดนีเซีย ในอันที่จะฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในประเทศนั้น และได้ส่งพระธรรมทูตชุดแรกไปยังอินโดนีเซีย

เมื่อปี พ.ศ. 2512 ได้ส่งพระภิกษุจากวัดบวรนิเวศ ออกไปปฏิบัติศาสนกิจที่ประเทศออสเตรเลีย เมื่อปี พ.ศ. 2516, และตั้งสำนักสงฆ์ในปี พ.ศ. 2518 พ.ศ. 2514 เสด็จไปดูการพระศาสนา และการศึกษาในประเทศเนปาล และอินเดีย ปากีสถาน ตะวันออก (บังคลาเทศ) ทำให้เกิดงานฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในเนปาล ในขั้นแรก ได้ให้ทุนภิกษุ สามเณรเนปาลมาศึกษาพระพุทธศาสนาในไทย ที่วัดบวรนิเวศ ฯ พ.ศ. 2520 เสด็จไปบรรพชาชาวอินโดนีเซีย จำนวน 43 คน ที่เมืองสมารัง ตามคำอาราธนาของคณะสงฆ์เถรวาทอินโดนีเซีย พ.ศ. 2528 ทรงเป็นประธานคณะสงฆ์ ไปประกอบพิธีผูกพัทธสีมาอุโบสถ วัดจาการ์ต้าธรรมจักรชัย ณ ประเทศอินโดนีเซีย นับเป็นการผูกพันธสีมาอุโบสถวัดพระพุทธศาสนาเถรวาท เป็นครั้งแรกของประเทศอินโดนีเซีย และในปีเดียวกันนี้ ได้เสด็จไปเป็นประธานบรรพชากุลบุตรศากย แห่งเนปาล จำนวน 73 คน ณ กรุงกาฐมาณฑุ ประเทศเนปาล พ.ศ. 2536 เสด็จไปเจริญศาสนาสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีน เป็นครั้งแรก ที่สาธารณรัฐประชาชนจีน ตามคำกราบทูลอาราธนาของรัฐบาลจีน พ.ศ. 2538 เสด็จไปเป็นประธาน วางศิลาฤกษ์วัดไทย ณ ลุมพินี ประเทศเนปาล ซึ่งรัฐบาลไทยจัดสร้างถวายเป็นพุทธบูชา และเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี

ด้านสาธารณูปการ

ได้ทรงบูรณะซ่อมสร้างเสนาสนะ และถาวรวัตถุอันเป็นสาธารณประโยชน์เป็นจำนวนมาก กล่าวคือ ปูชนียสถาน ได้แก่ มณฑปประดิษฐานพระพุทธบาทจำลอง พระเจดีย์ วัดบวรนิเวศวิหาร พระบรมธาตุ เจดีย์ศรีนครินทรมหาสันติคีรีดอยแม่สลอง พระอาราม ได้แก่ วัดสันติคีรี ดอยแม่สลอง เชียงราย วัดรัชดาภิเศก อำเภอบ่อพลอย กาญจนบุรี วัดล้านนาสังวราราม อำเภอจอมทอง เชียงใหม่ วัดพุมุด อำเภอไทรโยค กาญจนบุรี วัดญาณสังวราราม อำเภอบางละมุง ชลบุรี นอกจากนั้นยังทรงอุปถัมภ์วัดไทยในต่างประเทศอีกหลายแห่งคือ วัดพุทธรังสี นครซิดนีย์ ออสเตรเลีย วัดจาการ์ตาธรรมจักรชัย กรุงจาการ์ตาอินโดนีเซีย วัดนครมณฑปศรีกีรติวิหาร เมืองกิรติปูร เนปาล อีกทั้งยังทรงบูรณะซ่อมสร้างโรงเรียนได้แก่ โรงเรียนสมเด็จพระญาณสังวร ยโสธร โรงเรียนสมเด็จพระปิยมหาราชรมณียเขต กาญจนบุรี นอกจากนี้ยังมีโรงพยาบาล ได้แก่ การสร้างตึกวชิรญาณวงศ์ ตึกวชิรญาณสามัคคีพยาบาล และตึก ภปร. โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์, โรงพยาบาลสมเด็จพระปิยมหาราชรมณียเขต จังหวัดกาญจนบุรี, โรงพยาบาลวัดญาณสังวราราม จังหวัดชลบุรี, และโรงพยาบาลสกลมหาสังฆปรินายก เพื่อถวายเป็นอนุสรณ์แด่สมเด็จพระสังฆราชแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ทุกพระองค์ รวม 19 แห่ง ได้เริ่มก่อสร้างไปแล้วหลายแห่ง

พระภารกิจ

พ.ศ. 2484 เป็นสมาชิกสังฆสภาโดยตำแหน่ง เป็นกรรมการสังคายนาพระธรรมวินัย และเป็นผู้อำนวยการศึกษาสำนักเรียนวัดบวรนิเวศวิหาร
พ.ศ. 2489 เป็นพระวินัยธรชั้นอุทธรณ์ และเป็นกรรมการสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย
พ.ศ. 2493 เป็นกรรมการเถรสมาคม คณะธรรมยุต ประเภทชั่วคราว
พ.ศ. 2494 เป็นกรรมการอำนวยการมหามงกุฎราชวิทยาลัย และเป็นกรรมการแผนกตำราของมหามกุฏราชวิทยาลัย
พ.ศ. 2496 เป็นกรรมการตรวจชำระ คัมภีร์ฎีกา
พ.ศ. 2497 เป็นกรรมการเถรสมาคมคณะธรรมยุตประเภทถาวร สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก
พ.ศ. 2499 เป็นพระอภิบาล (พระพี่เลี้ยง) ของพระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ระหว่างที่ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ และเสด็จประทับ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะ
ชั้นธรรม ที่พระธรรมวราภรณ์ และรักษาการวินัยธรชั้นฎีกา
พ.ศ. 2501 เป็นกรรมการคณะธรรมยุติ และเป็นกรรมการมูลนิธิส่งเสริมกิจการพระศาสนา และมนุษยธรรม (ก.ศ.ม.)
พ.ศ. 2503 เป็นสังฆมนตรีช่วยว่าการองค์การปกครองสั่งการองค์การปกครองฝ่ายธรรมยุติ
พ.ศ. 2504 เป็นเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร เป็นผู้อำนวยการมหามกุฏราชวิทยาลัย เป็นประธานกรรมการสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย เป็นผู้รักษาการณ์เจ้าคณะธรรมยุตภาคทุกภาค และเป็นพระอุปัชฌาย์
พ.ศ. 2506 เป็นกรรมการเถรสมาคม ซึ่งเป็นกรรมการชุดแรก ตาม พ.ร.บ. คณะสงฆ์ พ.ศ. 2505
พ.ศ. 2515 เป็นเจ้าคณะกรุงเทพมหานคร และสมุทรปราการ และได้รับโปรดเกล้า ฯ สถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะที่ "สมเด็จพระญาณสังวร" สมเด็จพระราชาคณะในพระราชทินนามนี้ มีขึ้นในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ เป็นฝ่ายวิปัสสนาธุระพระอาจารย์สุก วัดท่าหอย พระนครศรีอยุธยา ได้รับพระราชทานสมศักดิ์นี้เป็นองค์แรก และต่อมาก็มิได้พระราชทานสมณศักดิ์นี้แก่พระเถระรูปใดอีกเลย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2363 ถึงปี พ.ศ. 2515 เป็นเวลาถึง 152 ปี
พ.ศ. 2517 เป็นประธานกรรมการคณะธรรมยุต
พ.ศ. 2528 เป็นรองประธานกรรมการสังคีติการสงฆ์ ในการสังคายนาพระธรรมวินัย ตรวจชำระพระไตรปิฎก และเป็นสังฆปาโมกข์ปาลิวิโสธกะพระวินัยปิฎก เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
พ.ศ. 2531 รักษาการเจ้าคณะใหญ่ธรรมยุต เป็นนายกกรรมการมหามกุฏราชวิทยาลัย และเป็นนายกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

ลำดับสมณศักดิ์

พ.ศ. 2490 ได้รับพระราชทานตั้งสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ที่ พระโศภณคณาภรณ์ และเป็นกรรมการมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย
พ.ศ. 2495 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราช ในพระราชทินนามเดิม
พ.ศ. 2498 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ ในพระราชทินนามเดิม
พ.ศ. 2499 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นธรรม ที่ พระธรรมวราภรณ์
พ.ศ. 2504 ได้รับพระราชทานสถาปนาสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะ เจ้าคณะรอง ชั้นหิรัญบัฏ ที่ พระสาสนโสภณ
พ.ศ. 2515 ได้รับพระราชทานสถาปนาสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระราชาคณะ ชั้นสุพรรณบัฏ ที่ สมเด็จพระญาณสังวร
พ.ศ. 2532 ได้รับพระราชทานสถาปนาสมณศักดิ์ขึ้นเป็น "สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก" ในพระราชทินนามเดิม มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระญาณสังวร บรมนริศรธรรมนีติภิบาล อริยวงศาคตญาณวิมล สกลมหาสังฆปริณายก ตรีปิฎกปริยัตติธาดา วิสุทธจริยาธิสมบัติ สุวัฑฒนภิธานสงฆวิสุต ปาวจนุตตมพิสาร สุขุมธรรมวิธานธำรง วชิรญาณวงศวิวัฒ พุทธบริษัทคารวสถาน วิจิตรปฏิภาณพัฒนคุณ วิบุลสีลาจารวัตรสุนทร บวรธรรมบพิตร สรรพคณิศรมหาปธานาธิบดี คามวาสีอรัณยวาสี สมเด็จพระสังฆราช

พระนิพนธ์

ตราสัญลักษณ์ งานฉลองพระชันษา ๙๖ ปี ทรงนิพนธ์เรื่องต่าง ๆ ไว้เป็นอันมาก ทั้งที่เป็นตำรา พระธรรมเทศนา และทั่วไป พอประมวลได้ดังนี้ ประเภทตำรา ทรงเรียบเรียงวากยสัมพันธ์ ภาค 1-2 สำหรับใช้เป็นหนังสือประกอบ การศึกษาของนักเรียนบาลี และทรงอำนวยการจัดทำ ปทานุกรม บาลี ไทย อังกฤษ สันสกฤต ฉบับพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทรบุรีนฤนาถ ประเภทพระธรรมเทศนา มีอยู่เป็นจำนวนมาก เท่าที่พิมพ์เป็นเล่มแล้วเช่น ปัญจคุณ 5 กัณฑ์, ทศพลญาณ 10 กัณฑ์, มงคลเทศนา, โอวาทปาฏิโมกข์ 3 กัณฑ์, สังฆคุณ9 กัณฑ์ เป็นต้น ประเภทงานแปลเป็นภาษาต่างประเทศ ทรงริเริ่มและดำเนินการให้แปลตำราทางพุทธศาสนา จากภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษ เพื่อใช้ในการศึกษาพระพุทธศาสนา เช่น นวโกวาท, วินัยมุข, พุทธประวัติ, ภิกขุปาติโมกข์, อุปสมบทวิธี, และทำวัตรสวดมนต์ เป็นต้น ประเภททั่วไป มีอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น การนับถือพระพุทธศาสนา, หลักพระพุทธศาสนา, พระพุทธเจ้าของเรานั้นท่านล้ำเลิศ, 45 พรรษาพระพุทธเจ้า, พระพุทธเจ้าสั่งสอนอะไร (ไทย-อังกฤษ) , วิธีปฏิบัติตนให้ถูกต้องทางธรรมะ, พระพุทธศาสนากับสังคมไทย, เรื่องกรรม ศีล (ไทย-อังกฤษ) , แนวปฏิบัติในสติปัฎฐาน, อาหุเณยโย, อวิชชา, สันโดษ, หลักธรรมสำหรับการปฏิบัติอบรมจิต, การบริหารจิตสำหรับผู้ใหญ่, บัณฑิตกับโลกธรรม, แนวความเชื่อ, บวชดี, บุพการี-กตัญญูกตเวที, คำกลอนนิราศสังขาร, และตำนานวัดบวรนิเวศ เป็นต้น

งานฉลองพระชันษา 96 ปี (8 รอบ)

3 ตุลาคม 2552 สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก ทรงเจริญพระชันษาครบ 96 ปี รัฐบาลจัดให้มีการบำเพ็ญกุศล และงานฉลองเนื่องในโอกาสมงคลนี้

งานฉลองพระชันษา 100 ปี

3 ตุลาคม 2556 สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงเจริญพระชันษา 100 ปีนับเป็นการเฉลิมฉลองพิเศษให้สมกับพระคุณพิเศษของเจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช (สุวัฑฒนมหาเถระ) ใน 4 มงคลกาล คือ ทรงเจริญพระชันษายิ่งยืนนาน 100 ปี ทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ยาวนาน 24 ปี ทรงดำรงตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต ยาวนาน 25 ปี และทรงดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศ ยาวนาน 52 ปี ที่รวมเรียกว่า จาตุรมงคลกาล อันนับเป็นมงคลพิเศษสมัย ต่อเมื่อกาลเวลาผ่านมายาวไกลจึงจักได้ปรากฎมีสักครั้งหนึ่ง

ที่มา :
ASTVผู้จัดการออนไลน์ 24 ตุลาคม 2556 20:54 น.


วันพุธที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2556

วันศุกร์ที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2556

เชิญร่วมเป็นเจ้าภาพทอดกฐินสามัคคี

  1. เชิญร่วมเป็นเจ้าภาพทอดกฐินสามัคคี
    8-9-10 พ.ย. 2556
    ณ วัดธรรมรัตนโพธิยาราม บ้านหนองคู-ทุ่งเจริญ ต.พระแก้ว อ.สังขะ จ.สุรินทร์
     

วันพฤหัสบดีที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2556

มีใครบ้าง...

มีใครบ้าง... ไม่เคยพลาด
มีใครบ้าง... ไม่เคยโง่
มีใครบ้าง... ไม่เคยเลือกผิด
มีใครบ้าง... ไม่เคยเสียใจ
แล้วจะมัวนั่งโทษตัวเองไปทำไม ในเมื่อใครๆ ก็เคยเป็น

Cr : 
yu Kuza

กำลังใจจากตัวเองสำคัญที่สุด


กำลังใจจากตัวเองสำคัญที่สุด อย่าดูถูกความสามรถตัวเอง ครับ

Cr : Anurak Langsanthia

วันศุกร์ที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2556

-เด็กถูกลักพาตัวจะได้กลับบ้านได้อย่างไร-

-เด็กถูกลักพาตัวจะได้กลับบ้านได้อย่างไร-

1.พลเมืองดีพบเห็นและให้การช่วยเหลือ
2.หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยเหลือเพราะพลเมืองดีแจ้งเบาะแส
3.คนร้ายปล่อยตัวเด็กเอง

2 ใน 3 เหตุผลที่เด็กได้กลับบ้าน เกิดจากความช่วยเหลือติดตามของพลเมืองในสังคม



ประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา "พายุ “เชบี” (JEBI) "

 
ประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา "พายุ “เชบี” (JEBI) "
ฉบับที่ 9 ลงวันที่ 02 สิงหาคม 2556(ภาพเมื่อเวลา 13.30น)
พายุโซนร้อน “เชบี” (JEBI) บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน มีศูนย์กลางอยู่ห่างประมาณ 300 กิโลเมตร ทางตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะไหหลำ ประเทศจีน หรือที่ละติจูด 17.8 องศาเหนือ ลองจิจูด 112.2 องศาตะวันออก มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลาง ประมาณ 85 กม./ชม. กำลังเคลื่อนที่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือด้วยความเร็วประมาณ 10 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คาดว่าจะเข้าสู่อ่าวตังเกี๋ยและจะขึ้นฝั่งบริเวณประเทศเวียดนามตอนบนประมาณ วันที่ 3 สิงหาคม 2556 หลังจากนั้นจะอ่อนกำลังลง ก่อนเคลื่อนเข้าปกคลุมบริเวณประเทศลาวตอนบน และประเทศไทยตอนบนต่อไป ลักษณะเช่นนี้ทำให้ในช่วงวันที่ 2-5 สิงหาคม 2556 จะมีฝนตกหนักถึงหนักมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บริเวณจังหวัดเลย หนองคาย บึงกาฬ อุดรธานี หนองบัวลำภู สกลนคร นครพนม และมุกดาหาร ส่วนภาคเหนือ บริเวณจังหวัดเชียงราย พะเยา น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ และเพชรบูรณ์ ขอให้ประชาชนระวังอันตรายจากสภาวะอากาศดังกล่าวไว้ด้วย

อนึ่ง มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย มีกำลังค่อนข้างแรง ทำให้บริเวณภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก ยังคงมีฝนตกหนักถึงหนักมากได้บางแห่ง ขอให้ประชาชนบริเวณจังหวัดจันทบุรี ตราด ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล ระวังอันตรายจากฝนตกหนัก ส่วนคลื่นลมในทะเลอันดามันสูงประมาณ 2 เมตร ขอให้ชาวเรือเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือในระยะนี้ไว้ด้วย
   
       ประกาศ ณ วันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2556 เวลา 11.00 น.

        นายวรพัฒน์ ทิวถนอม     อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา

Cr : 

Most watched