นายจ้างลูกจ้างในการทำงานร่วมกันจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายแรงงานอย่างเคร่งครัด เพราะกฎหมายแรงงานเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน นายจ้างและลูกจ้างจะกำหนดกฎกติกามารยาทให้มีมาตรฐานขั้นต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนดไม่ได้ เพราะเป็นกฎหมายที่คุ้มครองแรงงานไม่ได้คุ้มครองนายจ้าง เพื่อให้ทำงานร่วมกันอย่างสงบสุข เมื่อวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2560 ได้มีการแก้พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฉบับที่ 6 พ.ศ. 2560 เกี่ยวกับการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำสำหรับลูกจ้างบางกลุ่มบางประเภท การจัดทำข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ลดขั้นตอนไม่ต้องส่งให้กับทางราชการอีกต่อไป เพียงแต่ประกาศโดยเปิดเผยเท่านั้น และสามารถใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ด้วย รวมถึงการแก้ไขข้อบังคับก็เช่นเดียวกัน นอกจากนี้ได้มีการกำหนดเกี่ยวกับเรื่องการเกษียณอายุของลูกจ้างให้ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยให้ถือว่าเป็นการเลิกจ้างและต้องจ่ายค่าชดเชยตามอายุงาน การฝ่าฝืนไม่จ่ายเงินเลิกจ้างจากการเกษียณอายุมีบทลงโทษจำคุกและปรับ ซึ่งนายจ้างจะต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด รายละเอียดปรากฏตามเนื้อหาของกฎหมายข้างล่างนี้
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2560
อัตราค่าจ้างขั้นต่ำสำหรับลูกจ้างบางกลุ่มบางประเภท
มาตรา 87 ในการพิจารณากำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำให้คณะกรรมการค่าจ้างศึกษาและพิจารณาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอัตราค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับอยู่ประกอบกับข้อเท็จจริงอื่นโดยคำนึงถึงดัชนีค่าครองชีพ อัตราเงินเฟ้อ มาตรฐานการครองชีพ ต้นทุนการผลิต ราคาของสินค้าและบริการความสามารถของธุรกิจ ผลิตภาพแรงงาน ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ และสภาพทางเศรษฐกิจและสังคม
การพิจารณากำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจะกำหนดให้ใช้เฉพาะกิจการ งานหรือสาขาอาชีพประเภทใด เพียงใด ในท้องถิ่นใดก็ได้
เพื่อเป็นการส่งเสริมการจ้างงานและการคุ้มครองแรงงานสำหรับลูกจ้างบางกลุ่มหรือบางประเภทคณะกรรมการค่าจ้างอาจพิจารณากำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่แตกต่างจากที่พิจารณากำหนดในวรรคสองเพื่อใช้สำหรับลูกจ้างกลุ่มนั้นหรือประเภทนั้นในกิจการ งานหรือสาขาอาชีพประเภทใด เพียงใดในท้องถิ่นใดก็ได้ ทั้งนี้ ค่าจ้างดังกล่าวต้องไม่ต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่คณะกรรมการค่าจ้างกำหนดตามวรรคสอง
ในการพิจารณากำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ ให้คณะกรรมการค่าจ้างศึกษาและพิจารณาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอัตราค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับในแต่ละอาชีพตามมาตรฐานฝีมือที่กำหนดไว้ โดยวัดค่าทักษะฝีมือ ความรู้และความสามารถ แต่ต้องไม่ต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่คณะกรรมการค่าจ้างกำหนด
การจัดให้มีข้อบังคับการทำงาน
มาตรา 108 ให้นายจ้างซึ่งมีลูกจ้างรวมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป จัดให้มีข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเป็นภาษาไทย และข้อบังคับนั้นอย่างน้อยต้องมีรายละเอียดเกี่ยวกับรายการ ดังต่อไปนี้
(1) วันทำงาน เวลาทำงานปกติ และเวลาพัก
(2) วันหยุดและหลักเกณฑ์การหยุด
(3) หลักเกณฑ์การทำงานล่วงเวลาและการทำงานในวันหยุด
(4) วันและสถานที่จ่ายค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุดและค่าล่วงเวลาในวันหยุด
(5) วันลาและหลักเกณฑ์การลา
(6) วินัยและโทษทางวินัย
(7) การร้องทุกข์
(8) การเลิกจ้าง ค่าชดเชย และค่าชดเชยพิเศษ
ให้นายจ้างประกาศใช้ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่นายจ้างมีลูกจ้างรวมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป และให้นายจ้างจัดเก็บสำเนาข้อบังคับไว้ ณ สถานประกอบกิจการหรือสำนักงานของนายจ้างตลอดเวลา
ให้นายจ้างเผยแพร่และปิดประกาศข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานโดยเปิดเผย ณ สถานที่ทำงานของลูกจ้าง หรือเพิ่มเติมโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ด้วยก็ได้ เพื่อให้ลูกจ้างได้ทราบและเข้าถึงได้โดยสะดวก
การแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับการทำงาน
มาตรา 110
การแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานที่นายจ้างประกาศใช้ตามมาตรา 108 ให้นายจ้างประกาศข้อบังคับที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมนั้น และให้มาตรา 108 วรรคสองและวรรคสาม มาใช้บังคับโดยอนุโลม
การเกษียณอายุให้ถือว่าเป็นการเลิกจ้าง
มาตรา 118/1 การเกษียณอายุตามที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันหรือตามที่นายจ้างกำหนดไว้ ให้ถือว่าเป็นการเลิกจ้างตามมาตรา 118 วรรคสอง
ในกรณีที่มิได้มีการตกลงหรือกำหนดการเกษียณอายุไว้ หรือมีการตกลงหรือกำหนดการเกษียณอายุไว้เกินกว่าหกสิบปี ให้ลูกจ้างที่มีอายุครบหกสิบปีขึ้นไปมีสิทธิแสดงเจตนาเกษียณอายุได้โดยให้แสดงเจตนาต่อนายจ้างและให้มีผลเมื่อครบสามสิบวันนับแต่วันแสดงเจตนา และให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างที่เกษียณอายุนั้น ตามมาตรา 118 วรรคหนึ่ง
การทำงานร่วมกันระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างต้องอาศัยความเข้าใจกันมากกว่าการใช้กฎระเบียบมาบังคับ
ขอบคุณข้อมูลจาก decha.com