วันจันทร์ที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2559

ย้อนประวัติศาสตร์การล่มสลายของพุทธศาสนาในชมพูทวีป

ย้อนรอยประวัติศาสตร์การเสื่อมสลายของพุทธศาสนาในชมพูทวีป

ตอน ศังกราจารย์

อัจฉริยบุคคลระดับโลก ที่ชาวพุทธไม่เคยรู้จัก แต่จำเป็นต้องรู้จักมากที่สุด

ในบรรดาเจ้าลัทธิทั้งหลายบนโลกนี้ อาจกล่าวได้ว่าท่านศังกราจารย์เป็นเจ้าลัทธิที่มีอัจฉริยภาพมากที่สุดคนหนึ่ง ในประวัติศาสตร์ของโลกเลยทีเดียว เพราะลำพังการที่คนคนหนึ่งคิดจะก่อตั้งลัทธิอะไรขึ้นมาได้นั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย แต่ท่านศังกราจารย์นั้นสามารถทำได้มากกว่านั้น ท่านสามารถที่จะดูดดึงศาสนิกชนชาวพุทธไปเป็นสาวกของตนเองได้อย่างแนบเนียน จนล้มพุทธศาสนาที่เป็นคู่แข่งลงได้ แล้วใช้เป็นฐานในการพัฒนาและปฏิรูปลัทธิใหม่ของตน จนสืบต่อมาได้อย่างยิ่งใหญ่และกลายเป็นศาสนาสำคัญของโลกในยุคปัจจุบันได้สำเร็จ
ท่านศังกราจารย์สามารถล้มพุทธศาสนาลงได้อย่างไร? เรามารู้จัก นักการศาสนาที่ยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์ของโลกคนนี้ ที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้ทำลายพุทธศาสนาได้อย่างถึงรากและแนบเนียนที่สุด ด้วยยุทธศาสตร์ “ทำลายโดยไม่ให้รู้ว่าทำลาย”

ประวัติย่อ
ท่านศังกราจารย์ นามจริงคือ ศังกระ หรือ อาทิ ศังกระ (อังกฤษ: Adi Shankara สันสกฤต: आदि शङ्करः) มีชีวิตอยู่ระหว่าง ค.ศ. 788-820 (พ.ศ. 1331 - 1363) เป็นปราชญ์และนักการศาสนาชาวอินเดียใต้ เกิดที่เมืองเกราลา (Kerala) แต่ได้เดินทางโต้วาทะและเผยแผ่ลัทธิใหม่ของตนไปทั่วอินเดีย นับถือกันว่าเป็นองค์อวตารของพระศิวะ ศังกราจารย์เป็นผู้ประพันธ์คัมภีร์ปุราณะและคัมภีร์เวทานตะ อรรถกถาอธิบายลัทธิเวทานตะ และเป็นผู้ตั้งลัทธิอไทวตะเวทานตะ (อไทว อ่านว่า อะทะไว มาจาก non-dualism ที่ปฏิเสธของคู่แต่นิยมบูชาพระเจ้าองค์เดียวเป็นสิ่งสูงสุด) แต่คนส่วนใหญ่มักจำชื่อลัทธิของท่านว่า ลัทธิไศวะ หรือ ลัทธิศิวะอวตาร และยังเป็นผู้ก่อตั้งวัดและพระในรูปแบบสถาบันสงฆ์ที่เลียนแบบคณะสงฆ์ในพุทธศาสนา ส่งผลให้มีการครอบงำและกลืนกินพุทธศาสนาไปพร้อมๆ กับเกิดการพัฒนาและปฎิรูปลัทธิพราหมณ์ให้ยกระดับเป็นศาสนาฮินดูในที่สุด 
ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงได้รับการยกย่องอย่างสูงสุดในฐานะบุคคลในประวัติศาสตร์ นักปรัชญา นักปฏิรูปศาสนา และในฐานะปูชนียบุคคลอันสูงสุด คือองค์อวตารของพระศิวะ

ทำเนียนว่าบูชาพระพุทธเจ้า แต่ให้พระศิวะเป็นสิ่งสูงสุด อุปโลกน์ตนเป็นองค์อวตาร

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ลัทธิใหม่ค่อยๆ ได้รับความนิยมจนกลืนพุทธศาสนาไปได้อย่างแนบเนียน ก็คือการใช้หลักของความเชื่อเหนือจริงที่เกินกว่าคนทั่วไปจะคิดได้ โดยอุปโลกน์ว่าตนนั้นเป็นองค์อวตารของพระศิวะ ในรูปของเรื่องเล่าและแต่งเป็นคัมภีร์ จนก่อเกิดเป็นลัทธิไศวะหรือศิวะอวตาร และแต่งคำสอนในลัทธิของตนให้มาเกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้าเสีย คือให้พระพุทธเจ้าเป็นปางที่ ๙ ของพระนารายณ์ ดังปรากฎในคัมภีร์ปุราณะ โดยกลอุบายอันแยบยลนี้พุทธศาสนิกชนที่มีมาอยู่แต่เดิม ก็กลายเป็นศาสนิกชนในลัทธิของท่านศังกราจารย์ไปด้วย ในขณะเดียวท่านสังกราจารย์ก็มีความสามารถในการจัดตั้งและบริหารองค์กรเป็นอย่างมาก ก็ได้ก่อตั้งวัดและสังฆะของพระตามแบบในพุทธศาสนา โดยมุ่งเน้นการสั่งสมฝึกปรือกุลบุตรให้มาเป็นบุคลากรชั้นยอดของนักเผยแผ่ทั้งทางด้านบุคลิกภาพและความสามารถเป็นจำนวนมาก แล้วส่งกระจายไปแฝงตัวตามหัวเมืองต่างๆ เบื้องต้นได้ตั้งวัด(ที่เรียกว่า “มัฐ” หรือ “มะฐะ”) สาขาขนาดใหญ่ไว้ทั้งสี่ทิศเลียนแบบวัดในพระพุทธศาสนา เพื่อเรียกศรัทธาจากชาวบ้านและทำหน้าที่เป็นเสมือนศูนย์ระดมทรัพยากรในระดับภูมิภาค

ในด้านคำสอนและพิธีกรรมก็ได้มีการนำคำสอนและพิธีกรรมทางพุทธศาสนาเข้ามาปรับใช้แต่แปลงเปลี่ยนให้ไปในแนวทางลัทธิของตน ทำให้แทรกซึมเข้าไปสู่ชาวบ้านที่เป็นชาวพุทธอยู่แต่เดิมได้โดยง่าย จนเกิดการยอมรับนับถือมากขึ้นๆ ในขณะที่พระภิกษุสงฆ์ในพุทธศาสนาติดอยู่กับลาภยศสรรเสริญทรัพย์สินเงินทองความร่ำรวย อยู่ในเมืองใหญ่ๆ ละเลยวัดและชาวบ้านในชนบทที่ห่างไกล จึงทำให้ลัทธิศิวะอวตารนี้ค่อยๆ ยึดวัดในพุทธศาสนาของเดิมมาเป็นวัดในลัทธิของตนได้อย่างแนบเนียน แต่ในมุมของชาวบ้านนั้น ไม่รู้สึกว่าพุทธศาสนาจะหมดหรือเสื่อมสูญไปตรงไหน เพราะยังได้ทำพิธีกรรมและบูชาพระพุทธเจ้าอยู่เช่นเดิม วัดก็ยังมีพระของลัทธิไศวะมาอยู่ประจำคอยทำพิธีกรรมให้ เพียงแต่เพิ่มการบูชาพระศิวะและเทพเจ้าองค์อื่นๆ เพิ่มขึ้นมา และยกย่องให้พระศิวะเป็นสิ่งสูงสุด และนับถือท่านศังกราจารย์ในฐานะเป็นองค์อวตารของสิ่งสูงสุด ศาสนิกชนชาวพุทธที่มีมาแต่เดิมจึงกลายไปเป็นสาวกของนิกายศิวะอวตารได้ด้วยความเต็มใจ

วิเคราะห์เหตุปัจจัย

เหตุปัจจัยอะไรที่ทำให้ศังกราจารย์ทำลายพุทธศาสนาลงและตั้งลัทธิใหม่ของตนขึ้นมาได้สำเร็จ จนนักปราชญ์ทางศาสนายกย่องว่าท่านคือผู้กอบกู้ลัทธิพราหมณ์และมีส่วนสำคัญในการทำให้เกิดการพัฒนาและปฏิรูปลัทธิพราหมณ์ขึ้นมาเป็นศาสนาฮินดูในที่สุด

- การแฝงตัวเข้ามาอยู่ในกลุ่มพระภิกษุในพุทธศาสนา ตามประวัติว่ากันว่าท่านศังกราจารย์ได้เข้ามาเรียนองค์ความรู้ทางพุทธศาสนาในมหาวิทยาลัยนาลันทาด้วย ระหว่างนั้นก็ได้คบค้าสมาคมกับพระภิกษุที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญทางพุทธศาสนาเป็นจำนวนมาก ทำให้ทั้งรู้องค์ความรู้ต่างๆในพุทธศาสนา อีกทั้งยังรู้เห็นถึงพฤติกรรมที่เป็นจุดอ่อนต่างๆของพระภิกษุในพุทธศาสนาได้เป็นอย่างดีด้วย

- จากการที่ได้เข้ามาคลุกคลีและศึกษาคำสอนในพุทธศาสนา ทำให้ศังกราจารย์สามารถนำ Know how ที่เป็นจุดแข็งของพุทธศาสนามาปรับใช้ คือการก่อตั้งวัดและสังฆะเลียนแบบพุทธศาสนา และการปรับประยุกต์พิธีกรรมและคำสอนทางพุทธไปเป็นของตน จนทำให้ชาวบ้านยอมรับได้โดยง่าย

- การไม่ปฏิเสธพระพุทธเจ้า แต่เชื่อมความเชื่อให้พระพุทธเจ้ามาอยู่ในลัทธิของตน พร้อมๆ กับค่อยแทรกความเชื่อเรื่องพระศิวะเป็นสิ่งสูงสุด จนกระทั่งเมื่อชาวบ้านเกิดการหลงเชื่อมากขึ้นแล้ว ก็สถาปนาตนเองให้อยู่ในสถานะที่สูงสุดคือองค์อวตารของพระศิวะ ที่อยู่เหนือกว่าพระพุทธเจ้า

- การให้ความสำคัญในการก่อตั้งและพัฒนาวัดให้ดี และกระจายสาขาออกสู่ชนบท

- การให้ความสำคัญกับการสั่งสมและพัฒนาบุคลากรให้เป็นพระที่มีความสามารถในการเผยแผ่ทั้งบุคลิกภาพและความสามารถ และมีความคล้ายคลึงกับพระในพุทธศาสนาทำให้ชาวบ้านยอมรับได้ง่าย จนมีสำนวนว่า “รูปร่างเป็นพระ แต่ความรู้ไม่เป็นพุทธ” (จากการที่ท่านเคยอยู่ร่วมกับพระภิกษุในพุทธศาสนาจึงรู้ว่าตรงไหนเป็นจุดอ่อน ก็มาปรับให้พระในลัทธิของตนดูดีกว่าเหนือกว่าพระของพุทธที่มีมาแต่เดิม)

- แนวทางการสอนและประกอบพิธีกรรมที่ปรับประยุกต์ไปจากพุทธนั้น ทำให้ชาวบ้านไม่รู้สึกว่าเป็นลัทธิใหม่ ก็ยังเป็นชาวพุทธที่บูชาพระพุทธเจ้าอยู่เพียงแต่เพิ่มเทพเจ้าที่บูชาขึ้นมาเท่านั้น

- พระในพุทธศาสนา มีความประพฤติย่อหย่อน หลงติดในลาภยศสรรเสริญ ความร่ำรวยในทรัพย์สินเงินทองชีวิตที่ฟุ้งเฟ้อสุขสบายในเมืองใหญ่ ด้านหนึ่งก็ทำให้ละเลยการศึกษาและปฏิบัติตนตามพระธัมมวินัย อีกด้านหนึ่ง ก็ทำให้ละเลยการออกเผยแผ่ให้การศึกษากับชาวพุทธในชนบท ละเลยการดูแลวัดพุทธในชนบทจนกลายเป็นวัดร้างและถูกกลืนไปเป็นวัดของลัทธิศิวะอวตารไปในที่สุด

พระถูกมอมเมาให้หลงลาภยศเมื่อไรก็เป็นจุดอ่อนให้เขาทำลายได้สำเร็จ

ดังนั้น หากพระภิกษุในพุทธศาสนาเอง ประพฤติตนให้เป็นคนย่อหย่อน ไม่ศึกษาและปฏิบัติให้ถูกตรงตามพระธัมมวินัยด้วยดี มัวแต่หลงการมอมเมาอยู่ด้วยลาภ ยศ สรรเสริญ ทรัพย์สินเงินทอง โดยเฉพาะพระมหาเถระ และพระเถระทั้งหลาย ไม่เป็นแบบอย่างที่ดี และไม่สั่งสอนอบรมให้พระรุ่นใหม่ตลอดจนญาติโยมชาวพุทธให้ศึกษาและปฏิบัติในทางพุทธศาสนาอย่างถูกต้องรู้จริงปฏิบัติจริงได้ผลจริงแล้วไซร้ ก็จะเป็นการเปิดช่องให้ลัทธิความเชื่อนอกศาสนาแอบแฝงเข้ามาครอบงำกลืนกินพุทธศาสนาจากจุดอ่อนอันร้ายแรงนี้ ตามรอยอย่างท่านศังกราจารย์ จนทำให้พุทธศาสนาที่แท้จริงตามพระธัมมวินัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต้องเสื่อมสลายหมดไปจากผืนแผ่นดินไทยในที่สุด โดยที่ทั้งพระและชาวพุทธนั้นอาจจะไม่รู้ตัวเลยว่าตนเองได้มีส่วนทำให้พุทธศานาได้สูญสิ้นไปแล้วซ้ำรอยชาวพุทธในชมพูทวีปนั่นเอง

การทำให้พระพุทธศาสนาเสื่อมสลายไปจากประเทศไทยมิใช่เรื่องยาก หากรู้จุดอ่อน

การยึดครองพระพุทธศาสนาในประเทศไทยเป็นเรื่องที่ไม่ยากอย่างที่คิด ถ้าหากเรารู้จุดอ่อนในวงการคณะสงฆ์และการเมืองในคณะสงฆ์ ก็จะรู้ว่ามีมากมาย โดยเฉพาะเมื่อยามที่พระเถระมหาเถระทั้งหลายเป็นผู้ประพฤติมักมากเห็นแก่ลาภยศและเงินทองแล้วไซร้ ย่อมเป็นช่องโหว่หรือจุดอ่อนอันสำคัญให้ผู้ที่ฝักใฝ่ลัทธิอื่นแฝงตัวเข้ามาบวชได้โดยง่าย จากนั้นก็ใช้ผลประโยชน์ในการบำรุงบำเรอมอมเมาเอาอกเอาใจพระมหาเถระเหล่านั้น เพื่อการไต่เต้าเติบโตของตนและพรรคพวก และถ้าหากพวกเขาแทรกซึมเข้ามาในวงการปกครองคณะสงฆ์ได้สำเร็จเมื่อไร การครอบงำยึดครองพุทธศาสนาก็กระทำได้โดยง่ายดาย ในส่วนของชาวพุทธเองก็มีจุดอ่อนมากมายเนื่องด้วยถูกทำให้ออกห่างจากการศึกษาและปฏิบัติมานาน จึงขาดความรู้ความเข้าใจพื้นฐานที่ถูกต้อง มีลักษณะไปทางความเชื่องมงายได้ง่าย โดยเฉพาะถ้าเกี่ยวข้องกับเรื่องอภินิหาร การให้โชคลาภ การนำความร่ำรวยการเป็นเศรษฐีมาเป็นตัวล่อ ลักษณะเช่นนี้ย่อมง่ายที่จะชักจูง โน้มน้าวชาวพุทธส่วนใหญ่ในประเทศไทยให้เข้ามาเป็นสาวก และยอมรับซึมซับคำสอนตามความเชื่อในลัทธิใหม่ได้อย่างง่ายดายเช่นกัน เมื่อเหตุปัจจัยของพุทธบริษัทเป็นเช่นนี้ เหตุการณ์ซ้ำรอยประวัติศาสตร์อย่างในยุคของท่านศังกราจารย์จึงไม่ยากที่จะเกิดขึ้น เพราะมันก็กำลังดำเนินไปอยู่อย่างเข้มข้นมิใช่หรือ??

ฐิตวํโส ภิกขุ
ธรรมอาสาปกป้องพระธัมมวินัยจากปรัปวาท

             // Admin : Suban K.


วันอาทิตย์ที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2559

สาระธรรมจากหลวงพ่อลุน สุภาจาโร

อสฺโมภูชิตกมฺมนฺตํ คุริตา ภินิปาตินํ ตานี กมฺมานิ คปฺเปนฺติ อณฺหํ วชฺโณหิตํ มุเข

    ผู้ที่ทำการงานลวกๆโดยมิได้พิจารณาใคร่ครวญ
          เอาแต่รีบร้อนพรวดพราดจะให้เสร็จ
  การงานเหล่านั้นก็จะก่อความเดือดร้อนให้ได้
           เหมือนตักอาหารที่ยังร้อนใส่ปาก

                                 -พุทธศาสนสุภาษิต-

#สาระธรรมจากหลวงพ่อลุน สุภาจาโร

พระครูธรรมรัตนาภิรม (ลุน สุภาจาโร)
วัดธรรรมรัตน์โพธาราม (บ้านหนองคู-ทุงเจริญ)
เจ้าคณะตำบลพระแก้ว อ.สังขะ จ.สุรินทร์

วันพุธที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2559

สาระธรรมจากหลวงพ่อลุน สุภาจาโร


                   ขโณ โว มา อุปจฺจคา

อย่าปล่อยกาลเวลาให้ล่วงไปโดยเปล่าประโยชน์

                            
                                       -พุทธศาสนสุภาษิต-

#สาระธรรมจากหลวงพ่อลุน สุภาจาโร

     พระครูธรรมรัตนาภิรม (ลุน สุภาจาโร)
   วัดธรรรมรัตน์โพธาราม (บ้านหนองคู-ทุ่งเจริญ)
       เจ้าคณะตำบลพระแก้ว 
         อ.สังขะ จ.สุรินทร์

Most watched